จับตามอง ‘ชิงเต่า’กับโอกาสการนำเข้าผลไม้ทางภาคเหนือของจีน

24 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
สถิติของสำนักควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรค มณฑลซานตง ระบุว่า ในปี 2558 มณฑลซานตงมีการนำเข้าผลไม้ทั้งหมด 55,400 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32.9% โดยการนำเข้าหลักผ่านท่าเรือหวงต่าวในเมืองชิงเต่าจำนวน 80% ผลไม้ที่นำเข้าหลักประกอบด้วย ลำไย แก้วมังกร กล้วยหอม ทุเรียน มะพร้าว ส้ม จากประเทศผู้ส่งออกผลไม้หลักคือ เวียดนาม ไทย และสวิตเซอร์แลนด์

จากข้อมูลของท่าเรือหวงต่าว พบว่า ในปีดังกล่าว ท่าเรือหวงต่าว ในเมืองชิงเต่า มีการนำเข้าผลไม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดในเขตภาคเหนือของจีน สาเหตุเป็นเพราะท่าเรือหวงต่าว มีนโยบายที่อำนวยความสะดวกในการนำเข้าผลไม้ ประกอบกับการเปิดตลาดนำเข้าผลไม้ตงฟางติ่งซิ้น ที่มีการบริการตรวจปล่อยสินค้าแบบ One Stop Service โดยสามารถดำเนินพิธีการศุลกากรและการตรวจสอบและกักกันโรค CIQ ได้เสร็จสิ้นภายในตลาด ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง จึงเป็นที่ดึงดูดของกลุ่มผู้นำเข้าผลไม้ในจีนจำนวนมาก ก่อนหน้านี้ผู้ค้าส่งผลไม้ในศูนย์ขายส่งผลไม้ต่าง ๆ ในเมืองชิงเต่า มักนำเข้าผลไม้ผ่านทางท่าเรือกว่างตงหรือกว่างซี หลังจากนั้นจะใช้รถบรรทุกมายังชิงเต่า จึงทำให้ต้นทุนในการนำเข้าผลไม้สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาขายผลไม้ในตลาดเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ตลาดนำเข้าผลไม้ตงฟางติ่งซิ้น

ตลาดแห่งนี้เพิ่งเปิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา (2558) แต่ในปัจจุบันกลับมีบริษัทค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ในประเทศจีนตั้งอยู่กว่า 30 บริษัท และที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ บริษัท Xiang Ji Fruit Industry, ShenYang Qupai Fruit Industry, NanJing Lvhai Fruit Industry, ShangHai Lantao, Chongqing Hongjiu ฯลฯ

นายหยวนหมิง ผู้จัดการตลาดนำเข้าผลไม้ตงฟางติ่งซิ้น ให้ข้อมูลว่า การรวมตัวกันของผู้ค้าส่งผลไม้ในเมืองชิงเต่าจำนวนมาก ทำให้ชิงเต่ากลายเป็นตลาดขายส่งผลไม้ที่สำคัญในภาคเหนือของจีนแล้ว ผลไม้ที่นำเข้าในมณฑลซานตงแทบทั้งหมดมีการนำเข้าผ่านเมืองชิงเต่าและส่งต่อไปยังเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ค้าส่งผลไม้จากมณฑลเฮยหลงเจียง จี่หลิน เหลียวหนิง และเจียงซูก็รับผลไม้จากชิงเต่าไปขายเช่นกัน ทุกวันในตลาดจะมีตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากที่ลากตรงมาจากท่าเรือ อาทิ ผลไม้แก้วมังกรในช่วงพีกจะอยู่ที่ประมาณ 10 ตู้/วัน ถ้าคิดเฉลี่ยตู้ละ 20 ตันเป็นอย่างต่ำ ก็จะมีแก้วมังกรเฉลี่ยวันละ 200 ตันหมุนเวียนขายอยู่ในตลาดมณฑลซานตง

ผลไม้ที่นำเข้ามากที่สุดคือ ลำไย

สถิติสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคท่าเรือหวงต่าวระบุว่า มีการนำเข้าลำไยในปี 2558 เป็นจำนวน 44,320 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนเกินครึ่งของจำนวนผลไม้ที่นำเข้าจากทั้งมณฑล ประเทศผู้ส่งออกลำไยหลัก ได้แก่ ไทยและเวียดนาม โดยหนังสือพิมพ์ชิงเต่ายังได้ให้ข้อสังเกตว่า ลำไยจากไทยลูกเล็ก เนื้อเยอะ ส่วนลำไยจากเวียดนามลูกใหญ่ เนื้อบาง ผลไม้ที่นำเข้ามากเป็นอันดับ 2 คือ แก้วมังกร โดยนำเข้าจากเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ อันดับ 3 คือ กล้วยหอม นำเข้าจากฟิลิปปินส์เป็นส่วนใหญ่ ผลไม้ที่นำเข้ามากลำดับรองลงมาได้แก่ กีวี มะพร้าว ส้ม และทุเรียน

ผลไม้ที่นำเข้าไกลที่สุด คือ กล้วยเอกวาดอร์

ในปีที่ผ่านมาท่าเรือหวงต่าว มีการนำเข้าผลไม้จากกว่า 30 ประเทศ และประเทศนำเข้าที่ไกลที่สุดคือ ประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น ชิลี เอกวาดอร์ จากสถิติของท่าเรือพบว่า การนำเข้าผลไม้จากประเทศอเมริกาใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว และผลไม้ที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เชอร์รี่และบลูเบอร์รี่จากชิลี กล้วยหอมจากเอกวาดอร์

ผลไม้นำเข้าราคาถูกลง

ผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีราคาถูกลง ร้านขายปลีกผลไม้ในเมืองชิงเต่า ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงก่อนหน้าเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ราคาบลูเบอร์รี่จากชิลีถูกที่สุดกล่องละ 15 หยวน จากปีก่อนราคาถูกที่สุดกล่องละ 30 หยวน เชอร์รี่จากชิลีในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนปีนี้ราคาถูกที่สุด 50 หยวน/500 กรัม จากปีก่อนราคาถูกที่สุด 200 หยวน/500กรัม และในช่วงนี้ในเมืองชิงเต่ายังมีการขายมะม่วงนำเข้าจากเวียดนาม ที่ราคาเพียง 4 หยวน/500 กรัม นายหยวนหมิง ผู้จัดการตลาด ได้ให้ข้อมูลว่า ทางบริษัทขายส่งผลไม้ รู้แหล่งรับมะม่วงโดยตรง และส่งตรงมาที่เมืองชิงเต่า จึงทำให้ราคาถูก ทั้งนี้ มีจำนวนนำเข้ามากที่สุดวันละ 200 ตัน

บทส่งท้าย

ประเทศไทยมีผลไม้รสชาติอร่อย เป็นที่ติดใจและมีชื่อเสียงคุ้นหูคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ลำไย มะม่วง มังคุด มะพร้าว ฯลฯ ขณะเดียวกันมณฑลซานตงก็เป็นตลาดบริโภคผลไม้ขนาดใหญ่ ที่มีประชากรกว่า 98 ล้านคน (อันดับ 2 ของประเทศจีน) อีกทั้งเป็นประตูตลาดค้าส่งขึ้นทางตอนเหนือของประเทศจีน ในมณฑลเฮยหลงเจียง จี่หลิน เหลียวหนิง ฯลฯ จึงถือได้ว่าเป็นตลาดส่งออกที่น่าสนใจของผลไม้ไทยที่จะขยายการค้ามายังภาคเหนือของจีน

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการค้า-การลงทุน และความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) www.thaibizchina.com และช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559