มีประสบการณ์อะไรแก่ผู้ประกอบการไทย จากกระแสแบรนด์เนมปิดร้านในจีน

22 มิ.ย. 2559 | 05:00 น.
ยุคสมัยที่ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในจีนคงจะผ่านพ้นไปแล้ว เห็นได้จากแบรนด์เนมต่างชาติแห่ปรับกลยุทธ์การตลาดในจีนด้วยการปิดร้านบางสาขา ปรับลดราคาสินค้า และจัดกิจกรรมโปรโมชั่นกันมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่น เงินหยวนแข็งค่าขึ้น และชาวจีนเองก็เพิ่มความนิยมที่จะซื้อสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศ หรือสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ B2C (Business to Customer) ของต่างประเทศอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ นับเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยในจีนหรือผู้ที่สนใจจะบุกตลาดจีนเพื่อปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่เปลี่ยนแปลงไป

[caption id="attachment_64025" align="aligncenter" width="700"] สินค้าแบรนด์หรู 5 อันดับแรกในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ สินค้าแบรนด์หรู 5 อันดับแรกในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่[/caption]

กระแสแบรนด์เนมปิดร้านในจีน

หลังจากแบรนด์ "หลุยส์ วิตตอง" (Louis Vuitton)ปิดสาขา 6 แห่ง (และเปิดใหม่ 2 แห่ง) ในจีนเมื่อปีที่แล้ว ถัดจากนั้นมาในวันที่ 10 มีนาคม 2559 บริษัทก็ยืนยันแผนปิดอีก 2 สาขาที่นครเซี่ยงไฮ้และมณฑลซานซี ซึ่งผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ของ LVMH (Louis Vuitton Moet Hennessy) ผู้จัดจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลกและเป็นเจ้าของแบรนด์ "หลุยส์ วิตตอง" ระบุว่า อุปสงค์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และมาเก๊า ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนแบ่งตลาดของ LV ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) ลดลงไปอีก

รายงานตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยจีนประจำปี 2558 ของ Bain & Company บริษัทวิจัยการตลาดพบว่า นอกจาก LV แล้ว ปี 2558 ยังมีอีกหลายแบรนด์หรูจากต่างปะเทศที่ปิดร้านสาขาในจีน อาทิ กุชชี่ (GUCCI) ปิดสาขา 5 แห่ง เบอร์เบอรี่ (Burberry) ปิดสาขา 2 แห่ง และปราดา (Prada) ปิดสาขา 4 แห่ง อย่างไรก็ดี LV ย้ำว่า การปิดสาขาบางแห่งไม่ได้หมายความว่า LV จะระงับการลงทุนและการขยายธุรกิจในจีน แต่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาดและปรับปรุงโครงสร้างสาขาร้านที่มีอยู่

ซื้อสินค้าแบรนด์เนมในจีนน้อยลง

ตามรายงานของ Bain & Company ในปี 2558 ชาวจีนซื้อสินค้าแบรนด์เนมในจีนมีมูลค่า 1.13 แสนล้านหยวน ลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2557 และชาวจีนซื้อสินค้าแบรนด์เนมในฮ่องกงและมาเก๊าลดลง 25% ประเภทสินค้าหลักที่ยอดจำหน่ายในจีนลดลงได้แก่ นาฬิกาข้อมือ เสื้อผ้าผู้ชาย และเครื่องหนัง ทั้งนี้ สินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าราคาในจีน ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ราคาถูกกว่า 64 – 85% นาฬิกาข้อมือราคาถูกกว่า 33 – 83% ส่วนเสื้อผ้า น้ำหอม กระเป๋า เครื่องสำอางและรองเท้าหนังราคาถูกกว่า 30%

นอกจากนี้ การเติบโตของการท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้บริโภคจีนที่มีความเชื่อมั่นต่อเว็บไซต์ B2C ในต่างประเทศ ทำให้ชาวจีนนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ยอดจำหน่ายในจีนเองลดน้อยลง

แห่หิ้วแบรนด์เนมจากต่างแดน

สถิติจากกรมการท่องเที่ยวจีนชี้ว่า ปี 2558 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเที่ยวต่างประเทศถึง 120 ล้านคน และมีการจับจ่ายเฉลี่ยมากกว่า 1 หมื่นหยวนต่อหัว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวและปริมาณค่าใช้จ่ายติดอันดับแรกของโลกทั้งคู่ ด้านการบริโภคสินค้าหรู ตามรายของ Fortune Character Research Center สถาบันวิจัยตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยในนครเซี่ยงไฮ้ พบว่า ปี 2558 ชาวจีนซื้อสินค้าแบรนด์เนมในตลาดโลกมีมูลค่าสูงกว่า 1.16 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปี 2557 โดยซื้อจากต่างประเทศมีมูลค่า 9.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 78% ทั้งนี้ ชาวจีนซื้อสินค้าแบรนด์เนมผ่านช่องทาง E-Commerce ข้ามชาติและเว็บไซต์ B2C ในต่างประเทศถึง 12% ของการซื้อสินค้าแบรนด์เนมทั้งหมด

ในปี 2558 ชาวจีนซื้อสินค้าแบรนด์เนมที่ญี่ปุ่นเติบโตถึง 200% เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าและราคาสินค้าจึงถูกกว่าในจีน นอกจากญี่ปุ่นแล้ว เกาหลีใต้ ยุโรป และออสเตรเลียก็เป็นปลายทางการท่องเที่ยวที่ชาวจีนนิยมซื้อสินค้าแบรนด์เนมนอกจากนี้ ชาวจีนวัย 25-40 ปีก็มีความนิยมซื้อของที่ต่างประเทศไม่เหมือนกัน โดยชาวจีนวัย 25-30 ปีนิยมซื้อรองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง ชาวจีนวัย 30-35 ปีนิยมซื้อกระเป๋าและผลิตภัณฑ์ดิจิตอล และชาวจีนวัย 35-40 ปีนอกจากนิยมซื้อเครื่องประดับเพชรพลอยแล้ว ยังมีความสนใจต่อสินค้าบำรุงสุขภาพสูง

แนวโน้มตลาดสินค้าหรูในจีนปี 2559

1) เนื่องจากยอดจำหน่ายน้อยลง คาดว่าแบรนด์เนมในจีนส่วนใหญ่ยังคงลดปริมาณสาขาและปรับโครงสร้างสาขาในจีนต่อไป ซึ่งแทนที่จะเร่งฝีเท้าในการเปิดสาขาใหม่ในจีน แบรนด์เนมต่างๆ จะหันมาสนใจกับสาขาใหญ่ที่มีอยู่และมีที่ตั้งที่ดี เพื่อเพิ่มบทบาทของร้านที่มีอยู่ ให้ลูกค้ามีโอกาสสัมผัสสินค้าและไลฟ์สไตล์ รวมทั้งการให้บริการลูกค้า

2) ปริมาณชาวจีนที่ถูกหล่อหลอมให้มีความเชื่อถือในแบรนด์เนมและชื่นชมไลฟ์สไตล์ที่ดูดีมีระดับจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในจีน ซึ่งการตอบสนองความต้องการแฟชั่นคนรุ่นใหม่ของจีนและการออกแบบสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในตลาดจีน

3) การค้าสินค้าแบรนด์เนมผ่านช่องทาง E-Commerce ในทั่วโลกจะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในปี 2559 โดยเฉพาะเว็บไซต์ทางการของแบรนด์เนมจะเป็นเวที E-Commerce ที่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ มีแบรนด์เนมเริ่มบุกตลาดออนไลน์ ซึ่ง LV ได้พิจารณาเปิดร้านจำหน่ายสินค้าออนไลน์ของตนในเดือน เม.ย. 2559 หลังจากต่อต้านการละเมิดเครื่องหมายการค้าและสินค้าปลอมในตลาดจีนมานาน

4) งบประมาณในการโฆษณาสินค้าผ่านช่องทางดิจิตอล (เช่น เว็บไซต์, APP, Wechat, Weibo) คิดเป็นสัดส่วน 35% ของงบประมาณการโฆษณาสินค้าทั้งหมดและจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งผลสำรวจชี้ว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ 80% รับและเรียนรู้ข้อมูลสินค้าแบรนด์เนมจากเว็บไซต์หรือ APP และผู้ให้สัมภาษณ์ 60% รับและเรียนรู้ข้อมูลสินค้าแบรนด์เนมจากโซเชียลเน็ตเวิร์คเช่น Wechat และ Weibo

5) รัฐบาลจีนมีนโยบายควบคุมการซื้อสินค้าแบรนด์เนมในต่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ชาวจีนหันกลับมาใช้จ่ายในประเทศจีนมากขึ้น ที่ผ่านมาศุลกากรจีนมีการตรวจสอบกระเป๋าของชาวจีนที่เดินทางกลับจากแหล่งช้อปปิ้งเข้มงวดมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่นและฮ่องกง รวมทั้งปฏิรูปวิธีการเก็บภาษีสำหรับสินค้านำเข้าโดยผ่านช่องทาง E-Commerce ข้ามชาติ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง แต่กลุ่มชนชั้นกลางจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพในการบริโภคสูง ซึ่ง Boston Consulting Group คาดว่า ครอบครัวชาวจีนที่มีรายได้ 1.2 หมื่น – 2.2 หมื่นหยวนต่อเดือนจะเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดตลาด บริโภคมูลค่าถึง 2 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ การปรับกลยุทธ์การตลาดของแบรนด์เนมในจีนก็ถือเป็นประสบการณ์สำหรับผู้ประกอบการไทยในจีนหรือผู้ประกอบการไทยที่สนใจบุกตลาดจีน เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ตลอดจนการปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลจีนได้อย่างทันท่วงที และเพื่อประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในจีนต่อไป

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลู่ทางการค้า-การลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) www.thaibizchina.com/ หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559