นักธุรกิจไทยเล็ง M&A สร้างหนทางรอดในช่วงเศรษฐกิจซบเซา

15 มิ.ย. 2559 | 08:52 น.
ผลสำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำกว่า 36 แห่งทั่วโลกของแกรนท์ ธอนตัน เผยร้อยละ 33 ของผู้เข้าร่วมสำรวจมีแผนที่จะเข้าซื้อกิจการอื่นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ แม้มูลค่ารวมของการควบรวมกิจการและการเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) ในปี 2558 ที่ผ่านมา จะมีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่ความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายกิจการต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก อันเนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมของแต่ละภูมิภาคที่มีความต่างกันอย่างมากนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาคที่แตกต่างกัน

โดยนักลงทุนรายใหญ่หลายรายในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียน ต่างกำลังมองหาข้อเสนอที่ได้ผลกำไรดีในต่างประเทศ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างฐานการตลาดแห่งใหม่ ขณะที่นักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets ) จะใช้กิจกรรม M&A เพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเพิ่มการรับรู้ในตราสินค้าของตน (Brand recognition) ในตลาดเป้าหมาย ส่วนทางยุโรปตอนใต้มีแนวโน้มที่จะเข้าซื้อกิจการอื่นเพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันการเข้าซื้อกิจการแบบไม่ยินยอม (Hostile takeovers)

จุฬาภรณ์ นำชัยศิริ กรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจการเงินของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทยกล่าวว่า “กิจกรรม M&A ระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับแรงฉุดอย่างมากจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยนั้น กิจกรรม M&A ยังคงเป็นเหมือนทางลัดสำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนและบริษัทอื่นที่มีกำลังซื้อ ให้สามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดและเสริมความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันนั้น เหล่านักธุรกิจในไทยต่างมองกิจกรรม M&A เป็นหนึ่งในวิธีที่จะลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ โดยพยายามเข้าซื้อกิจการอื่นที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจขององค์กร โดยดูจากปัจจัยความมั่นคงและโอกาสเติบโตในอนาคต”

แม้ว่าจะมีแหล่งเงินทุนที่ถูกลงและแนวโน้มในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มขึ้นในบางภูมิภาค แต่ความเชื่อมั่นของผู้ขายกิจการทั่วโลกในปี 2558 ที่ผ่านมา กลับลดลงร้อยละ 5 ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณเตือน ถึงโอกาสในการขายกิจการที่เคยจับต้องได้กำลังลดน้อยลง สิ่งเหล่านี้ทำให้ราคาการซื้อขายกิจการที่ประเมินมีมูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากช่องว่างความต่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานดังกล่าว การรับรู้ถึงราคาประเมินที่ดีกว่าอาจส่งผลให้มีการลดลงร้อยละ 5 ในธุรกิจที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ครอบครองกิจการในอนาคตอันใกล้ จากผลสำรวจพบว่าความแตกต่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานของการเข้าซื้อกิจการในอนาคตอยู่ที่ร้อยละ 24 ซึ่งอาจเป็นสัญญาณสภาวะตลาดที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการขายกิจการ

จุฬาภรณ์ กล่าวต่อว่า “แม้การได้มาซึ่งบุคลากรที่มีฝีมือและความสามารถ จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักธุรกิจตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ แต่มันก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไม่อาจตามทันและการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะภายในองค์กรอีกด้วย สำหรับนักธุรกิจหรือนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสซื้อกิจการในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำนั้น อาจยังมีโอกาสที่น่าสนใจอยู่ แต่ต้องทำความเข้าใจว่าหลายประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าวนั้นจะมีการพลิกฟื้นที่ช้า และอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในระยะอันใกล้อีกครั้ง ดังนั้น แทนที่จะแสวงหาแค่การได้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว ผู้ซื้อกิจการควรต้องมองภาพรวมในระยะกลาง รวมถึงการมองว่าการซื้อกิจการดังกล่าวนั้น สนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจของพวกเขาหรือไม่ด้วย”

“นักธุรกิจควรพิจารณาการเข้าซื้อกิจการในฐานะโอกาสที่จะช่วยให้เข้าถึงตลาดใหม่ สรรหาบุคลากรที่มีทักษะ และขยายการเติบโตแก่องค์กร ตราบใดที่โอกาสเหล่านั้นยังคงสนับสนุนเป้าหมายทางกลยุทธ์ในระยะกลางและระยะยาวขององค์กร มากกว่าจะมองแค่เป้าหมายระยะสั้นที่ช่วยให้เกิดผลตอบแทนทางการเงินที่รวดเร็วเท่านั้น”