ผลโพลล์‘Brexit’เขย่าตลาด คาดเฟดและบีโอเจชะลอการตัดสินใจนโยบายการเงิน

18 มิ.ย. 2559 | 08:00 น.
โพลล่าสุดจากหลายสำนักชี้ฝ่ายสนับสนุน "Brexit" มีคะแนนนำในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการลงประชามติ ส่งผลให้ตลาดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนในช่วงต้นสัปดาห์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษก่อนการลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน เพื่อตัดสินว่าอังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือ "Brexit" ที่มีการเปิดเผยออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ หลายสำนักแสดงให้เห็นว่าฝ่ายสนับสนุนการออกจากอียูมีคะแนนนำฝ่ายสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูอยู่เล็กน้อย

จากการสำรวจของ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ที่เปิดเผยในวันจันทร์ (13 มิถุนายน) พบว่า 45% ของผู้ตอบแบบสอบถามสนับสนุนการถอนตัวจากอียู ขณะที่ 43% สนับสนุนการเป็นสมาชิกต่อไป เช่นเดียวกับการสำรวจความคิดเห็นโดยไอซีเอ็มที่ออกมาในช่วงเย็นของวันเดียวกัน พบว่าผู้สนับสนุนการออกจากอียูมีสัดส่วน 49% เทียบกับฝ่ายสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียู 44%

การสำรวจความเห็นผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยยูกอฟพบว่ามี 46% ที่เลือกออกจากอียู และ 39% เลือกอยู่ต่อ ส่วนผลสำรวจโดยโออาร์บีพบว่า ผู้ที่เลือกออกจากอียูมีสัดส่วน 49% และผู้ที่เลือกอยู่ในอียูมีสัดส่วน 48%

ผลสำรวจที่ออกมาซึ่งแสดงถึงโอกาสที่เพิ่มมากขึ้นว่าอังกฤษอาจจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกอียู สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลกจนส่งผลให้เกิดความผันผวนทั้งในตลาดการเงินและตลาดหุ้นในช่วงต้นสัปดาห์ และนักวิเคราะห์เชื่อว่าตลาดน่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ผันผวนต่อไปในช่วงก่อนการลงประชามติ "มีความรู้สึกถึงความไม่แน่นอนที่เพิ่มมากขึ้น" เคธี บอสยานชิช หัวหน้าฝ่ายบริการนักลงทุนมหภาคของอ็อกฟอร์ด อีโคโนมิกส์ กล่าว

ตลาดหุ้นปิดตลาดในวันจันทร์ (13 มิถุนายน) ลดลงอย่างถ้วนหน้า ตั้งแต่ในจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ยุโรป ตลอดจนสหรัฐอเมริกา

พอล แอชเวิร์ธ นักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตอล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า ความกังวลที่สำคัญที่สุดของนักลงทุน คือถ้าผลลงประชามติเลือกออกจากอียู จะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่ประสบปัญหา อาทิ โปแลนด์ และฮังการี เลือกที่จะถอนตัวออกตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แอชเวิร์ธมองว่าความผันผวนของตลาดน่าจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าความกังวลเกี่ยวกับการถอนตัวของประเทศอื่นๆ ตามอังกฤษมีลดน้อยลงไป

ขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการเปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นจากสำนักต่างๆ ออกมา ขณะที่นักลงทุนหันไปเลือกลงทุนกับสกุลเงินที่ถูกมองว่ามีความปลอดภัย หนึ่งในนั้นคือสกุลเงินเยน กดดันให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น รวมถึงสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ไม่ว่าผลประชามติจะออกมาอย่างไร วันที่ 24 มิถุนายนน่าจะเป็นวันที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์มีความผันผวนมากที่สุด โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบปี หรืออาจอ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี

สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของการทำประชามติของอังฤษในสัปดาห์หน้า จะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางในต่างประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)และญี่ปุ่นที่มีกำหนดการประชุมในสัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์มองว่าความกังวลที่เกิดขึ้นจะทำให้เฟดยังไม่ปรับดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงช่วงปลายปี

"เวลานี้การตัดสินใจของอังกฤษเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เฟดไม่น่าจะมีการเคลื่อนไหวจนกว่าจะถึงเดือนกันยายน อย่างน้อยเฟดจะต้องรอจนกว่าจะทราบผลการลงคะแนนและผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาในทันที" จิม โวเกล หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์อัตราดอกเบี้ยของเอฟทีเอ็น ไฟแนนเชียล ให้ความเห็น
ขณะเดียวกัน ค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นกดดันการตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่พยายามรักษาเงินเยนให้อ่อนตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานโดยอ้างคำกล่าวของแหล่งข่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของบีโอเจต้องการรอให้การทำประชามติผ่านพ้นไปก่อน เนื่องจากเกรงว่าความผันผวนของตลาดจากผลประชามติจะหักล้างผลของนโยบายที่จะออกมาในช่วงนี้ด้วยการผลักดันให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559