ปัจจัยเศรษฐกิจตัดสินเลือกตั้ง นักวิเคราะห์ชี้ชาวอเมริกันจับตาช่วง 5 เดือนต่อจากนี้

13 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.
หากตัวเลขเศรษฐกิจในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนไม่แข็งแกร่ง เหมือนเช่นตัวเลขจ้างงานเดือนล่าสุดที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง อาจหมายถึงอุปสรรคต่อการหาเสียงของนางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต

แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี บารัก โอบามา แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผู้มีสิทธิ์เลือตั้งมักจะจดจำผลงานเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาเพียงไม่นานได้ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 4 หรือ 8 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 5 เดือนจากนี้ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับนาย โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน มากกว่านางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตของนายโอบามา

ดังเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ออกมาต่ำอย่างน่าผิดหวังเพียง 38,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าตัวเลขจ้างงานเฉลี่ย 200,000 ตำแหน่งในช่วงตลอด 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่มาก แม้ว่าอัตราการว่างงานในช่วงที่นายโอบามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะลดลงจาก 10% มาเหลือเพียงประมาณ 5% ในปัจจุบัน แต่ก็ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาโจมตีโดยนายทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

"ตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 5 ปีเป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้เราต้องเปลี่ยนจากนโยบายของโอบามาที่ล้มเหลว ซึ่งคลินตันให้คำมั่นว่าจะดำเนินต่อไป" เรนซ์ พรีบัส ประธานคณะกรรมาธิการแห่งชาติของพรรครีพับลิกันกล่าวผ่านทวิตเตอร์

ขณะที่ฝ่ายนายโอบามาออกมาตอบโต้ว่า ตัวเลขจ้างงานที่น่าผิดหวังเพียงเดือนเดียวไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจจะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย นายทอม เปเรซ รัฐมนตรีแรงงานของสหรัฐฯ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ว่า

"แม้ว่ารายงานเดือนล่าสุดที่อ่อนแอ แต่เราจ้างงานเฉลี่ย 150,000 ตำแหน่งต่อเดือน สิ่งที่เรามองเห็นเวลานี้ คือหลักฐานที่ค่อนข้างชัดเจนของค่าแรงที่เพิ่มขึ้น โดยค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้น 3.2% ในช่วงปี 2559 ซึ่งดีกว่าปี 2558 อย่างแน่นอน" นายเปเรซกล่าว

ผลสำรวจความคิดเห็นโดยแกลลัพเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งทำการสอบถามชาวอเมริกัน 1,530 ราย พบว่าเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่ชาวอเมริกันยังคงกังวลที่สุด โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 90% ตอบว่าเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพวกเขา ขณะที่ 89% ตอบว่าการจ้างงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง และ 20% ของผู้ตอบแบบสอบถามเลือกเศรษฐกิจเป็นประเด็นอันดับหนึ่งที่ต้องการให้ประธานาธิบดีคนต่อไปแก้ปัญหา

ขณะเดียวกัน การสำรวจความคิดเห็นโดยเดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล/เอ็นบีซี นิวส์ เมื่อเดือนก่อน พบว่าในขณะที่นางคลินตันถูกมองว่ามีความสามารถในการดำเนินนโยบายต่างประเทศดีกว่า แต่ทางด้านเศรษฐกิจ นายทรัมป์มีความได้เปรียบ โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนนายทรัมป์เหนือกว่าในเรื่องการรับมือกับวอลล์สตรีต การค้า และเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนนางคลินตันมีคะแนนเหนือกว่าเรื่องการดูแลชนชั้นกลาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559