แนวโน้มเศรษฐกิจยูโรกระเตื้อง นักวิเคราะห์คาดอีซีบีอาจไม่เพิ่มมาตรการกระตุ้นอีกในปีนี้

04 มิ.ย. 2559 | 07:30 น.
เศรษฐกิจยูโรโซนที่ส่งสัญญาณว่ามีความแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันที่เอื้อต่อเงินเฟ้อ ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางยุโรปจะไม่รีบเร่งเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วๆ นี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่คาดหมายว่าจะมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในวันพฤหัสบดีนี้ (2 มิถุนายน) ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า อาจจะไม่มีมาตรการใหม่อีกเลยในปีนี้

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังอยู่ในระดับต่ำมาก เพียง -0.2% และอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับเกินกว่า 10% แต่มี 2 ปัจจัยสำคัญที่น่าจะทำให้อีซีบีตัดสินใจอยู่นิ่งอย่างน้อยก็ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า

ประการแรก เศรษฐกิจของยูโรโซนส่งสัญญาณว่ามีความแข็งแกร่งขึ้น และการฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรก เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโต 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน

ปัจจัยที่ 2 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อสัปดาห์ก่อนมาแตะระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกรับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2558 ช่วยลดแรงกดดันต่ออีซีบีที่จะต้องกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อจากระดับที่ต่ำมาก นายคาร์สเทน เบอร์เซสกี นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอ็นจี กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำให้นักเศรษฐศาสตร์ของอีซีบีปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี 2558

ทั้งนี้ ในการคาดการณ์เงินเฟ้อล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่ของอีซีบีคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อของยูโรโซนในปีนี้จะอยู่ที่เพียง 0.1% และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.3% ในปี 2559 ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 2% ของอีซีบีอยู่มาก

สัปดาห์ก่อน ฟิทช์ เรตติ้งส์ ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในปีนี้เล็กน้อย จาก 1.5% เป็น 1.6% โดยให้เหตุผลว่า การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้รับการสนับสนุนจากพัฒนาการที่ดีขึ้นในตลาดแรงงาน การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ

ขณะเดียวกัน เดือนมิถุนายนจะเป็นการเริ่มต้นใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อีซีบีประกาศออกมาในการประชุมเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2 มาตรการ คือการซื้อตราสารหนี้คุณภาพสูงของภาคเอกชน และการปล่อยเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำมากให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยทั้ง 2 มาตรการมีเป้าหมายเพิ่มกระตุ้นการกู้ยืม การใช้จ่าของภาคธุรกิจและผู้บริโภค ตลอดจนผลักดันอัตราเงินเฟ้อเนื่องจากความต้องการในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันอีซีบีซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยจะดำเนินมาตรการดังกล่าวไปจนถึงเดือนมีนาคมปี 2560 เป็นอย่างน้อย ขณะเดียวกันได้คงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 0% พร้อมกับนำนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาใช้กับดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินที่มีไปปล่อยกู้แทนที่จะนำมาฝากไว้กับอีซีบี

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า นายดรากีจะไม่ส่งสัญญาณของการเพิ่มความเข้มงวดของนโยบายการเงิน แต่จะเปิดโอกาสของการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเอาไว้

ทั้งนี้ หนึ่งในปัจจัยที่มีโอกาสกระทบกระเทือนสภาวะเศรษฐกิจของยูโรโซน คือผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรว่าจะอยู่ในสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปหรือไม่ในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ "ยังมีความเสี่ยงด้านลบหลายประการ ซึ่งรวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โอกาสที่อังกฤษจะโหวตออกจากอียู และอันตรายหากเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นอีกครั้งในยุโรป" นายฮาเวิร์ด อาเชอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ ให้ความเห็น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559