รู้จัก CFS ของฮ่องกง ก่อนส่งออกอาหาร

03 มิ.ย. 2559 | 14:00 น.
แม้ว่าฮ่องกงจะเป็นเมืองท่าปลอดภาษีที่การนำเข้าสินค้าและอาหารต่าง ๆ จากต่างประเทศจะสามารถเข้าสู่ฮ่องกงได้โดยสะดวก ทั้งที่เป็นสินค้าเพื่อการบริโภคภายในและสินค้าเพื่อการส่งออกต่อ (re-export) ไปยังจีน แต่สำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ที่จะนำมาวางจำหน่ายในท้องตลาดฮ่องกงจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ถูกสุขอนามัยและมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับผู้บริโภค รัฐบาลฮ่องกงมีมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวดในการควบคุมความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร หน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่นี้คือ Centre for Food Safety (CFS)

Centre for Food Safety เป็นหน่วยงานภายใต้ Food and Environmental Hygiene Department จะทำหน้าที่สุ่มตรวจอาหารและผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดที่วางจำหน่ายเพื่อการบริโภคว่ามีสารตกค้างหรือสารปนเปื้อนต่าง ๆ อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารนั้น ๆ หรือไม่ หากตรวจพบ CFS ฮ่องกงก็จะดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร (Public Health and Municipal Services Ordinance / Food Safety Ordinance) เพื่อระงับการจำหน่ายชั่วคราว หรือห้ามการนำเข้า ซึ่งจะมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืนทั้งปรับและจำคุก

CFS ฮ่องกงได้เปิดเผยตัวเลขการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารในฮ่องกงในช่วงเดือนมีนาคม 2559 ดังนี้ CFS ฮ่องกงได้สุ่มตรวจผลิตภัณฑ์อาหารจำนวน 8,900 ตัวอย่าง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ 99.9 % มีเพียงตัวอย่างสินค้า 3 รายการที่ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยตามข้อกำหนด

CFS ฮ่องกงยังได้สุ่มตรวจตัวอย่างสินค้าจำนวน 1,000 รายการด้วยวิธี microbiological tests เพื่อตรวจสอบคุณภาพด้านสุขอนามัย และตรวจตัวอย่างสินค้าจำนวน 2,500 รายการด้วยวิธี chemical tests เพื่อตรวจสอบสารตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลง สารกันบูด สารตะกั่วเจือปน สีผสมอาหาร เป็นต้น ส่วนอีก 5,400 รายการ ซึ่งรวมถึงสินค้า 4,500 รายการที่นำเข้าจากญี่ปุ่นก็ได้นำไปตรวจสอบวัดระดับสารกัมมันตรังสี (radiation levels) ตกค้างในอาหารด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ CFS ฮ่องกงยังได้ตรวจสอบตัวอย่างสินค้าจำพวกผักและผลไม้ 2,900 รายการ เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก 400 รายการ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 1,300 รายการ ผลิตภัณฑ์นมและขนมแช่แข็ง 600 รายการ เมล็ดธัญพืช 500 รายการ และสินค้าอาหารอื่น ๆ เช่น ขนมคบเคี้ยวและเครื่องดื่มอีก 3,200 รายการ เป็นต้น โดย CFS ฮ่องกงได้ตรวจพบยาฆ่าแมลงตกค้างเกินกำหนดในตัวอย่างสินค้าจำพวกผัก 3 รายการ CFS ฮ่องกงจึงแจ้งให้ผู้ค้าที่เกี่ยวข้องทราบถึงผลการตรวจสอบสินค้า พร้อมกับขอความร่วมมือให้ผู้จัดจำหน่ายหยุดขายสินค้าชนิดดังกล่าวและตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้านั้น ๆ

สำหรับโทษของการฝ่าฝืนกฎระเบียบว่าด้วยสารตกค้างในพืชและสัตว์ (Pesticide Residues in Food Regulation (Cap 132CM) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 มีโทษปรับ 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกงและจำคุก 6 เดือน โดยนับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2559

CFS ฮ่องกงได้สุ่มตรวจกลุ่มตัวอย่างมาแล้ว 52,200 รายการ จากสินค้านำเข้า ตลาดค้าส่งและค้าปลีก จากผลการตรวจสอบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ามีเพียง 0.3 % เท่านั้นที่ไม่ผ่านมาตรฐานที่กำหนด

CFS ฮ่องกงกล่าวว่า สารตกค้างในอาหารอาจเกิดจากความที่ผู้ค้าไม่ใส่ใจในหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice) เช่น เกษตรกรอาจใช้ยากำจัดศัตรูพืชในปริมาณที่มากเกินไปหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเวลาอันสมควรทำให้ยากำจัดศัตรูพืชยังไม่ทันย่อยสลายไปหมดก่อนนำมาจำหน่าย เป็นต้น

โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมและในแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าเกษตรกรรมหลากหลายชนิด อาทิ ข้าว ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์แช่แข็งต่าง ๆ มายังฮ่องกง เพื่อมิให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารของไทยเสียโอกาสทางการค้า ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารให้ถูกต้องตามมาตรฐานสุขอนามัยที่ทางการฮ่องกงกำหนดเพราะเมื่อ CFS ฮ่องกงตรวจพบสารตกค้างในสินค้าอาหารก็จะประกาศแจ้งเตือนให้สาธารณชนทราบบนเว็บไซต์และระงับการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวในทันที นั่นหมายถึงสินค้าทั้งหมดจะต้องนำออกจากหน้าร้านซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างมากต่อทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้าและยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศผู้ส่งออกโดยรวมอีกด้วย

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559