ลดคาดการณ์เศรษฐกิจผู้ดี ซีบีไอประสานเสียงเตือนผลกระทบรุนแรงหากออกจากอียู

20 พ.ค. 2559 | 13:00 น.
กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดของอังกฤษออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตในปีนี้ลง พร้อมระบุว่าการทำประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของอังกฤษในสหภาพยุโรปเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษบกิจของประเทศ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งสหราชอาณาจักร หรือซีบีไอ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรลงเหลือ 2% ทั้งในปี 2559 และ 2560 ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.3% และ 2.1% เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าอังกฤษจะเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไป

ทั้งนี้ ซีบีไอได้เน้นย้ำถึงข้อดีของการเป็นสมาชิกอียู และกล่าวว่าความกังวลเกี่ยวกับผลการทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนที่จะถึงนี้เป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่เข้ามาชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจ "เมฆดำแห่งความไม่แน่นอนกำลังครอบคลุมการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะท่ามกลางความอ่อนแอของตลาดเกิดใหม่ และผลการทำประชามติการเป็นสมาชิกอียูซึ่งชะลอแผนลงทุนของบางบริษัท" นางแคโรลิน แฟร์แบร์น กล่าว

"เราคาดหมายว่าการเติบโตของสหราชอาณาจักรจะดำเนินต่อไป แต่น่าจะในอัตราที่ต่ำกว่าเดิมที่เราคาดไว้" นางแฟร์แบร์นกล่าวเพิ่มเติม

ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดของซีบีไอสอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารกลางอังกฤษที่ในเวลานี้มองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 2% ในปีนี้ และ 2.3% ในปี 2560 โดยในกรณีที่อังกฤษลงมติออกจากอียู เศรษฐกิจจะชะลอตัวรุนแรงขึ้นมาก และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงสั้นๆ

เศรษฐกิจอังกฤษเติบโตได้เพียง 0.4% ในไตรมาสแรกของปี และผลสำรวจบรรยากาศทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นแนวโน้มที่อ่อนแอต่อเนื่อง

ธนาคารกลางอังกฤษกล่าวว่า ต้องการเห็นการเติบโตของรายได้ที่รวดเร็วขึ้น ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดหมายว่าการปรับดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในปี 2560 ขณะที่ Chartered Institute for Personnel and Development หรือซีไอพีดี กล่าวว่า ภาคธุรกิจคาดหมายว่าจะปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น 1.7% ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยการเติบโตที่อ่อนแอส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ

คำกล่าวเตือนของซีบีไอเกิดขึ้นหลังจากทั้ง 2 ฝ่ายกำลังตอบโต้กันอย่างดุเดือดก่อนการทำประชามติในเดือนมิถุนายน โดยนอกเหนือจากธนาคารกลางอังกฤษแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังได้ออกมาเตือนว่าการออกจากอียูอาจจุดชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

"เราประเมินทุกสถานการณ์ที่เป็นได้ และเราไม่พบผลลัพธ์ใดๆ ที่เป็นบวกจากการลงประชามติตัดสินอนาคตใจอียู" นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าว โดยไอเอ็มเอฟระบุว่า ความตื่นตระหนกของนักลงทุนจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ในกรณีที่ผลลงคะแนนเลือกออกจากอียู ส่งผลให้มูลค่าหุ้นและสินทรัพย์ดิ่งลง เพิ่มต้นทุนกู้ยืมของทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ ตลอดจนเงินลงทุนที่เข้าสู่ภาคส่วนที่สำคัญของเศรษฐกิจ อาทิ อสังหาริมทรัพย์และการเงิน จะหยุดชะงักลงในทันที

ไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่า ถ้าผลการลงมติเลือกอยู่ในอียูต่อไป คาดว่าการเติบโตจะฟื้นกลับคืนมาได้ในครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในครึ่งปีแรกประกอบกับผลพวงการทำประชามติที่ยังตกค้างอยู่จะทำให้การเติบโตตลอดทั้งปี 2559 ต่ำกว่า 2% ก่อนจะฟื้นกลับมาเป็น 2.25% ในระยะกลาง

การเข้ามาแทรกแซงการลงความเห็นของชาวอังกฤษของทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารกลางอังกฤษสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับฝ่ายสนับสนุนการโหวตออกจากอียู โดยมีการกล่าวหาว่าเป็นแผนการของรัฐบาลอังกฤษในการใช้ไอเอ็มเอฟซึ่งมีอียูและรัฐบาลอังกฤษเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินมากดดันชาวอังกฤษ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,158 วันที่ 19 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559