ธุรกิจบราซิลหนุนรัฐบาลใหม่ ‘เทเมอร์’ ส่งสัญญาณพร้อมใช้มาตรการรัดเข็มขัด

17 พ.ค. 2559 | 08:00 น.
นักธุรกิจและนักลงทุนยินดีกับการเปลี่ยนตัวผู้นำบราซิล หลังจากนางดิลมา รุสเซฟฟ์ ต้องยุติการทำหน้าที่ประธานาธิบดีชั่วคราวเพื่อเข้าสู่กระบวนการไต่สวนการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ขณะที่ประธานาธิบดีรักษาการณ์ของบราซิลเตรียมเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

หลังจากวุฒิสภาของบราซิลมีมติในช่วงกลางสัปดาห์ ให้ดำเนินการไต่สวนว่าจะถอดถอนนางดิลมา รุสเซฟฟ์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในข้อหาทำผิดกฎหมายงบประมาณหรือไม่ ส่งผลให้ในระหว่างนี้นางรุสเซฟฟ์ต้องยุติการทำหน้าที่ประธานาธิบดี และนายมิเชล เทเมอร์ รองประธานาธิบดี ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการณ์แทน โดยนายเทเมอร์ได้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าสาบานตนรับตำแหน่งในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น

นายเทเมอร์กล่าวหลังจากเข้ามารับตำแหน่งว่า ขอให้ชาวบราซิลเชื่อมั่นว่าจะสามารถก้าวผ่านวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับประเทศในเวลานี้ จากผลของเศรษฐกิจถดถอนอย่างรุนแรง ความผันผวนทางการเมือง และข่าวอื้อฉาวจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน "เราต้องเร่งสร้างความสงบและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับบราซิลอย่างเร่งด่วน พรรคการเมือง ผู้นำ องค์กร และประชาชนชาวบราซิลจะร่วมมือกันเพื่อดึงประเทศขึ้นจากภาวะวิกฤติที่เลวร้ายนี้"

เศรษฐกิจเป็นประเด็นที่นายเทเมอร์ให้ความสำคัญในการแถลงต่อชาวบราซิลเป็นครั้งแรก "เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศในสายตาต่างชาติ เพื่อดึงเงินลงทุนใหม่ๆ เข้ามา และกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตได้อีกครั้ง" นายเทเมอร์กล่าว

ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายว่ารัฐบาลของนายเทเมอร์จะรีบประกาศมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหางบประมาณที่ขาดดุลอย่างหนัก โดยที่ปรึกษารายหนึ่งของนายเทเมอร์กล่าวว่า เป้าหมายในระยะสั้นคือปฏิรูประบบบำนาญที่ใช้งบประมาณสูง อาจจะด้วยวิธีการกำหนดอายุเกษียณขั้นต่ำ

นอกจากนี้ นายเทเมอร์ยังส่งสัญญาณว่าต้องการควบคุมการใช้จ่ายของรัฐ ด้วยการปรับลดจำนวนคณะรัฐมนตรีลงจาก 32 ตำแหน่ง เหลือ 24 ตำแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้งนายเฮนริเก้ เมเรลเลส อดีตประธานธนาคารกลางบราซิลในยุคที่เศรษฐกิจบราซิลรุ่งเรือง เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่

"สัญญาณเริ่มต้นที่เทเมอร์ส่งออกมาเป็นไปในทิศทางบวกอย่างยิ่ง นักลงทุนต้องการเห็นเทเมอร์จัดการกับปัญหาการใช้จ่าย" นายเปาโล เปตราซซี หุ้นส่วนบริษัทบริหารจัดการเงินทุน เลเม อินเวสทิเมนทอส ให้ความเห็น

ด้านนายอเลนคาร์ เบอร์ตี ประธานสมาพันธ์ค้าปลีกแห่งเซาเปาโล กล่าวแสดงเชื่อมั่นว่านายเทเมอร์จะสามารถมอบความเป็นอิสระในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับนายเมเรลเลสโดยไม่มีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง พร้อมกับระบุว่าต้องการให้นายเทเมอร์และนายเมเรลเลสเร่งลดขนาดของรัฐบาลที่ใหญ่เกินความจำเป็นลง

อุตสาหกรรมของบราซิลในหลายภาคส่วนได้รับประโยชน์จากมาตรการอุดหนุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการลดหย่อนภาษี และมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่รัฐบาลของนางรุสเซฟฟ์เสนอให้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของภาคธุรกิจและนักลงทุนไม่พอใจนางรุสเซฟฟ์เพิ่มมากขึ้นหลังจากเศรษฐกิจบราซิลหดตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบร้อยปี และรัฐบาลมีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชันเป็นจำนวนมาก

เศรษฐกิจบราซิลหดตัว 3.8% ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะหดตัวในระดับใกล้เคียงกันในปีนี้ อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นถึงเกินกว่า 10% เงินเฟ้อรุนแรงอยู่ที่ระดับประมาณ 10% และมูลค่าการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกัน คะแนนนิยมของนางรุสเซฟฟ์ลดต่ำลงอย่างมาก เช่นเดียวกับเสียงสนับสนุนในสภา ส่งผลให้นางรุสเซฟฟ์ไม่สามารถผ่านกฎหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

นายปาเก้ เมนอส ประธานบริษัท ดิวส์มาร์ เด เครอส เชนร้านขายยารายใหญ่อันดับ 2 ของบราซิล เชื่อว่า นายเทเมอร์น่าจะผลักดันกฎหมายการขึ้นภาษีและลดค่าใช้จ่ายที่นางรุสเซฟฟ์เสนอและค้างอยู่ในสภาให้ผ่านได้ เนื่องจากนายเทเมอร์มีเสียงสนับสนุนในสภามากกว่านางรุสเซฟฟ์

ขณะที่นางเลด้า มาเรีย เปาลานี นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเปาโล ซึ่งมองว่ารัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่อย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยอมรับว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะได้รับแรงกระตุ้นในช่วงแรก เนื่องจากภาคธุรกิจได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่ขณะเดียวกันเตือนถึงผลกระทบในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลผลักดันมาตรการรัดเข็มขัด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559