ดีมานด์ทองคำต้นปีพุ่งสูงทำสถิติ นักลงทุนแห่ซื้อกองทุน ETF

18 พ.ค. 2559 | 07:00 น.
ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 โดยบรรยากาศการลงทุนได้รับอานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ

สภาทองคำโลกเปิดเผยในรายงานแนวโน้มทองคำฉบับล่าสุดว่า ความต้องการโดยรวมของทองคำในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 จาก 1,070.4 ตัน เป็น 1,289.8 ตัน โดยความต้องการในกองทุน ETF ทองคำจากชาติตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ทองคำทำผลงานได้ดีที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี ขณะที่ความต้องการในภูมิภาคหลักๆ ของเอเชียชะลอตัว

"ความไม่แน่นอนอันเป็นจากผลของอัตราดอกเบี้ยติดลบ ส่งผลให้ภาคการลงทุนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันความต้องการทองคำ และช่วยให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น 17% ในช่วงไตรมาสแรกของปี" นายอลิสแตร์ เฮวิทท์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลการตลาดของสภาทองคำโลกกล่าว และเสริมว่า "เมื่อมองไปข้างหน้า เราคาดหมายว่าความไม่แน่นอนของตลาดที่ยังคงอยู่ ประกอบกับนโยบายการเงินที่ไม่ปกติ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการจากการลงทุนและธนาคารกลางต่อไป"

ความต้องการลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น 122% จาก 277.9 ตันในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็น 617.6 ตันในไตรมาสแรกของปี 2559 โดยมีสาเหตุหลักมาจากเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF เป็นจำนวนมาก คิดเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ความต้องการกองทุน ETF ทองคำเพิ่มขึ้นถึง 1,320% เป็น 363.7 ตัน จาก 25.6 ตันในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558

ตลาดทองคำพยายามที่จะฟื้นตัวกลับมาในปีนี้ ด้วยราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น 20% นับตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาสูงสุดเมื่อเดือนกันยายนปี 2554 แล้ว ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 34%

ขณะเดียวกัน ความต้องการทองคำในส่วนอื่นๆ ไม่สดใสนัก โดยความต้องการด้านเครื่องประดับ เทคโนโลยี และธนาคารกลางต่างปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

ความต้องการจากผู้บริโภคในอินเดียลดลง 39% เหลือ 116.5 ตันในไตรมาสแรก เนื่องจากราคาที่ปรับสูงขึ้น และการประท้วงการขึ้นภาษีของรัฐบาล ขณะที่ความต้องการในจีนลดลง 12% เหลือ 241.3 ตัน จากผลของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและราคาสูง ทั้งนี้ ตลาดขนาดใหญ่ในเอเชียทั้งสองแห่งนี้ ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นความต้องการทองคำประมาณครึ่งหนึ่งของโลก เป็นตลาดที่อ่อนไหวต่อราคา โดยมากจะซื้อทองคำเมื่อมีราคาต่ำ

ซัพพลายทองคำเพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาสแรกเป็น 1,134.9 ตัน โดยซัพพลายจากเหมืองเพิ่มขึ้น 8% ขณะที่ทองคำรีไซเคิลลดลง 1%

นักวิเคราะห์จากคอมเมิร์ซแบงก์กล่าวว่า ไม่คาดหมายว่าจะมีความต้องการลงทุนในทองคำแข็งแกร่งเหมือนเช่นไตรมาสแรกอีก แต่ขณะเดียวกันความต้องการทองคำเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หมายความว่าราคาทองคำน่าจะมีปัจจัยสนับสนุนที่ดีต่อไปในระยะกลาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559