ยูเอ็นชี้เศรษฐกิจโลกยังแผ่ว ขาดปัจจัยกระตุ้น หั่นตัวเลขคาดการณ์ปีนี้เหลือแค่ 2.4%

17 พ.ค. 2559 | 11:00 น.
รายงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าด้วยเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและแนวโน้มกลางปี 2016 หรือ World Economic Situation and Prospects as of mid-2016 ซึ่งเผยแพร่โดยฝ่ายกิจการสังคมและเศรษฐกิจของยูเอ็นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2559 ณ สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังคงขยายตัวอย่างอ่อนแรง แนวโน้มจะกลับสู่ภาวะแข็งแกร่งนับว่าน้อยมากสำหรับปีนี้ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับนานาประเทศในการที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจด้านต่างๆให้เข้าเป้า

รายงานฉบับนี้ประมาณการว่า เศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะเติบโตในอัตราเพียง 2.4% ในปี 2559 นี้ ซึ่งเป็นอัตราที่เท่ากับปี 2558 จึงนับเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลง 0.5% จากตัวเลขเดิมที่เคยคาดไว้ในเดือนธันวาคม 2558 ส่วนปีหน้า (2560) คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตมากขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 2.8%

นายเลนนี่ มอนทีล ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายการพัฒนาเศรษฐกิจของยูเอ็นกล่าวในการแถลงข่าวว่า รายงานชิ้นนี้ตอกย้ำความจำเป็นที่ว่าประเทศต่างๆจะต้องนำนโยบายที่มีความสมดุลมากขึ้นมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปและขณะเดียวกันก็จะต้องเป็นการเติบโตที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็นที่ตั้งเป้าหมายบรรลุในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หรือในอีก 14 ปีข้างหน้าด้วย

ทั้งนี้ อุปสงค์จากประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วที่ยังคงแผ่วอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ต่ำ การขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทวีความรุนแรง และการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักหลายประเทศทั้งในแอฟริกา ในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียต (CIS) ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน ไม่เพียงเท่านั้น รายงานของยูเอ็นยังชี้ถึงปัจจัยซ้ำเติมอื่นๆที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อหลายประเทศ อาทิ ปัญหาสภาวะอากาศที่ทวีความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และการหลั่งไหลออกของเงินทุนในหลายประเทศกำลังพัฒนา

อีกไฮไลต์ของรายงานชิ้นนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่มีมานานและยังคงดำเนินต่อไปในบราซิลและรัสเซีย ซึ่งกำลังส่งผลกระทบกระจายไปสู่ประเทศรอบข้างหรือประเทศที่มีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับ 2 ประเทศดังกล่าว ในส่วนของรัสเซียนั้น รายงานคาดหมายการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของปีนี้ (2559) ว่าจะหดตัวลง 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2558 อันเนื่องมาจากภาวะบีบรัดทางการคลัง การลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง และผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่หลายประเทศนำมาใช้กับรัสเซีย

สำหรับบราซิล ยูเอ็นคาดการณ์ว่า จีดีพีจะหดตัวลงถึง 3.4% เมื่อเทียบกับตัวเลขปี 2558 สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติการเมืองภายในประเทศของบราซิลเองที่ร้าวลึกยิ่งขึ้น ภาวะอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขการขาดดุลการคลังที่พุ่งสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ทะยานขึ้นด้วย

ส่วนประเทศที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาน้อยที่สุด (the least developed countries) รายงานของยูเอ็นคาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราเพียง 4.8% ในปี 2559 และ 5.5% ในปี 2560 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็นที่ตั้งเอาไว้ที่ปีละอย่างน้อย 7% สถานการณ์ดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนและจะส่งผลกระทบต่อโครงการลงทุนของภาครัฐในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความจำเป็นและต้องการงบลงทุนอย่างยิ่งยวด

สิ่งที่พอจะเป็นข่าวดีในรายงานชิ้นนี้คือ การปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศขยายตัวในอัตราเท่ากับในปี 2558 หรือไม่มีการเติบโต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อัตราการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกอาจไม่จำเป็นต้องผกผันตามกัน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า มีการลงทุนในโครงการเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้นจนทำลายสถิติในปี 2558 ซึ่งเป็นผลมาจากการทำตามพันธกิจที่ให้ไว้อย่างแน่วแน่ของรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐของหลายประเทศกำลังพัฒนา

“ความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกยังคงมีเพิ่มมากขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ยังมีความเสี่ยงจากกระแสการไหลออกอย่างรวดเร็วของเงินทุนและยังเผชิญแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศยิ่งมีส่วนต่างที่ถ่างออกจากกันมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังตกต่ำต่อเนื่องจะยิ่งเพิ่มปัญหาในการชำระหนี้ให้กับหลายๆประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม รายงานของยูเอ็นแนะนำว่า นานาประเทศควรจะต้องมีนโยบายที่เชื่อมประสานกันมากขึ้นเพื่อลดทอนผลกระทบทางลบที่แผ่ขยายออกมาถึงกัน และเพื่อจำกัดขอบเขตความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตลาดการเงินที่มักส่งผลกระทบถึงกันอย่างรวดเร็ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559