หนี้ยูโรโซนลดในรอบ 8 ปี สนับสนุนแนวคิดผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัด

28 เม.ย. 2559 | 00:00 น.
รัฐบาลกลุ่มประเทศยูโรโซนลดการขาดดุลงบประมาณลงได้อย่างต่อเนื่องในปี 2558 ส่งผลให้ปีที่ผ่านมากลายเป็นปีแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 8 ปีก่อนที่สัดส่วนหนี้สาธารณะของภูมิภาคลดลง

สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า การใช้จ่ายของรัฐบาลในกลุ่มประเทศยูโรโซนสูงกว่ารายรับ 2.15 แสนล้านยูโรในปี 2558 หรือคิดเป็น 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากสัดส่วน 2.6% ของจีดีพีเมื่อปี 2557 และเป็นปีที่ 2ติดต่อกันที่การขาดดุลงบประมาณโดยรวมของยูโรโซนต่ำกว่าเพดาน 3% ตามกฎของสหภาพยุโรป

ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะรวมของรัฐบาลกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซนเพิ่มขึ้นจาก 9.3 ล้านล้านยูโรในปี 2557 เป็น 9.4 ล้านยูโรในปี 2558 อย่างไรก็ดี เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีแล้ว หนี้สาธารณะลดลงจาก 92.0% ของจีดีพีในปี 2557 เป็น 90.7% ของจีดีพีเมื่อปีก่อน เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2550 ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะปรับลดลง

ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่ลดลงอาจทำให้ข้อถกเถียงของฝ่ายคัดค้านมาตรการรัดเข็มขัดมีน้ำหนักมากขึ้น รัฐบาลยูโรโซนหลายประเทศไม่ต้องการที่จะรัดเข็มขัดเพิ่มเติมในเวลาที่ธนาคารกลางพยายามใช้นโยบายทางการเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ต่างออกมาให้ความเห็นว่า ในเวลาที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรเพิ่มการใช้จ่ายขึ้นเท่าที่เป็นไปได้ หรือให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านที่ยังขาดแคลน

แม้ยูโรโซนจะเลือกใช้วิธีการรัดเข็มขัดด้วยการลดค่าใช้จ่ายและขึ้นภาษี เพื่อรับมือกับวิกฤติหนี้สาธารณะที่รุมเร้ามาตั้งแต่ปลายปี 2552 แต่เวลานี้หลายฝ่ายเริ่มเห็นพ้องกันว่าจำเป็นต้องมองหาหนทางอื่นมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังธนาคารกลางยุโรปมีมาตรการต่างๆ ออกมาตั้งแต่การลดดอกเบี้ยเงินฝากสู่ระดับติดลบ และอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อพันธบัตร

"ปัญหาหลักคือมีการลงทุน ความต้องการภายในประเทศ และระดับการเติบโตในภูมิภาคยุโรปที่ต่ำเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากนโยบายรัดเข็มขัดเพียงอย่างเดียวที่ใช้มานานจนเกินไป ยุโรปจะไม่สามารถก้าวพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ ถ้าเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจมีเพียงอย่างเดียวคือการพิมพ์ธนบัตร" นายซิกมาร์ กาเบรียล รัฐมนตรีเศรษฐกิจของเยอรมนีกล่าว

ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 และนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า นโยบายทางการคลังของประเทศต่างๆ ในเวลานี้เริ่มมีการขยายตัวขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดต่อจากนี้ไปจะไม่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่าใดนักถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากเยอรมนี โดยยูโรสแตทระบุว่า รัฐบาลเยอรมนีมีงบประมาณเกินดุลในปี 2558 และตั้งเป้าหมายที่จะรักษางบประมาณให้เกินดุลต่อไปจนถึงปี 2563 เป็นอย่างน้อย

ขณะเดียวกัน การขาดดุลงบประมาณของกรีซสวนทางกับทิศทางของทั้งภูมิภาค โดยมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา จาก 3.6% ของจีดีพีในปี 2557 เป็น 7.2% ของจีดีพีในปี 2558

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่า เมื่อไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ย รัฐบาลกรีซมีงบประมาณที่เกินดุลคิดเป็นสัดส่วน 0.7% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากการขาดดุล 0.25% ของจีดีพีเมื่อครั้งที่กรีซยังอยู่ภายใต้โครงการรับเงินช่วยเหลือครั้งก่อน ทั้งนี้ การทำงบประมาณให้เกินดุลเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งภายใต้ข้อตกลงรับเงินช่วยเหลือของกรีซที่ทำกับยุโรปและไอเอ็มเอฟ โดยภายใต้ข้อตกลงล่าสุด กรีซจะต้องเพิ่มงบประมาณเกินดุลให้ได้ถึง 3.5% ของจีดีพีภายในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559