จีนเบียดสหรัฐขึ้นแท่น “คู่ค้าอันดับ 1” ของบริษัทในเอเชียแปซิฟิก

01 ธ.ค. 2563 | 07:19 น.

ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า จีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกา กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของบรรดาบริษัทในเอเชียแปซิฟิกเรียบร้อยแล้ว

 

ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ ระบุว่า ขณะนี้ จีน ได้แซงหน้า สหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็น ตลาดต่างประเทศชั้นนำสำหรับบริษัทต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยบริษัท 29% จากทั้งหมดที่ได้รับการสำรวจมองว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุด ขณะที่ 28% มองว่า สหรัฐเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่สุด

จีนเบียดสหรัฐขึ้นแท่น “คู่ค้าอันดับ 1” ของบริษัทในเอเชียแปซิฟิก

ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจโลก

 

เอชเอสบีซี โฮลดิ้งส์ได้ทำการสำรวจความเห็นของบริษัทเอกชนจำนวน 10,400 แห่งใน 39 ประเทศ ระหว่างวันที่ 11 ก.ย. - 7 ต.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีสัญญาณว่า โรคโควิด-19 เพิ่งเริ่มแพร่ระบาดระลอกสองทั่วยุโรป และเป็นช่วงก่อนที่นายโจ ไบเดน จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา

 

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ขัดขวางหนทางที่จีนจะได้รับประโยชน์จากบริษัทเอกชนและคนงานในสหรัฐ โดยผลสำรวจของเอชเอสบีซี ชี้ว่า นอกจากนโยบายกีดกันจีนและการแยกตัวออกจากจีนจะไม่ได้เป็นไปตามที่คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งใจไว้ แต่ยังกลับทำให้ฐานการผลิตของบริษัทเอกชนกระจายไปยังศูนย์กลางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แทนที่จะย้ายกลับประเทศสหรัฐอเมริกา

 

นางนาตาลี บลายธ์ หัวหน้าฝ่ายการค้าของเอชเอสบีซี ให้ความเห็นว่า การโยกย้ายจากฝั่งตะวันตกไปยังตะวันออก และการผงาดขึ้นของภูมิภาคเอเชียนั้น เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่สหรัฐกำลังเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า (protectionism) ภายใต้การบริหารงานของปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ และในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีนฟื้นฟูเศรษฐกิจสำเร็จประเทศแรกหลังโควิด-19

หน้าตาที่เปลี่ยนไป ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19 (จบ)

ข่าวดีเศรษฐกิจจีนฟื้นต่อเนื่อง ฉุดส่งออกไทย มิ.ย.โต 12%

 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า แนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป หลังจาก 15 ประเทศในกลุ่มภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาค ในขณะที่ประชาชนราว 3 พันล้านคนของภูมิภาคนี้ จะถูกจัดเข้าสู่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนพลวัตรทางเศรษฐกิจมากขึ้น