สหรัฐ-อังกฤษ-อียู จ่ออนุมัติใช้วัคซีนต้านโควิด ธ.ค.นี้

29 พ.ย. 2563 | 23:16 น.

บุคลากรการแพทย์-เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วย จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นปีหน้าจะมีการผลิตวัคซีนออกมาในปริมาณมากเพียงพอตอบสนองความต้องการใช้

 

เดือนธ.ค.นี้ หลายประเทศจะได้เริ่ม การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 กันแล้ว หลังจากที่หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการอนุมัติใช้ยาของแต่ละประเทศซึ่งรวมทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาให้การ อนุมัติการใช้วัคซีน ตัวหลัก ๆอย่างเป็นทางการ

 

ไฟแนนเชียลไทม์ สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กำลังจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ก่อนที่จะสิ้นปี 2563 โดยคาดว่า อังกฤษ จะเป็น ประเทศแรกที่อนุมัติการใช้วัคซีน ที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทค จากนั้นหลังการอนุมัติ คาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนดังกล่าวอย่างเป็นทางการได้อย่างเร็วคือวันที่ 7 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

 

สหรัฐ-อังกฤษ-อียู จ่ออนุมัติใช้วัคซีนต้านโควิด ธ.ค.นี้

 

ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น คาดว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ เอฟดีเอ จะอนุมัติการใช้วัคซีนของไฟเซอร์ ซึ่งเป็นบริษัทยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐเอง ร่วมกับพันธมิตรคือบริษัท ไบโอเอ็นเทค จากเยอรมนี หลังจากที่เอฟดีเอมีการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาในวันที่ 10 ธ.ค. ดังนั้น จึงคาดว่าการอนุมัติและการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างเป็นทางการนั้นจะเกิดขึ้นในอังกฤษก่อนสหรัฐอเมริกา

 

ทั้งนี้ นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี  ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐ และเป็นนายแพทย์ใหญ่ของคณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอ็นบีซีของสหรัฐ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 พ.ย.) ว่า มีแนวโน้มและความเป็นไปได้สูงว่า จะมีการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กับกลุ่มบุคคลที่ควรได้รับวัคซีนก่อนใคร ๆมากที่สุดในสหรัฐอเมริกาก่อนสิ้นเดือนธ.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟิลิปปินส์-ไทย ลงนามจองซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คาดได้ฉีดกลางปี 64

รู้จักวัคซีน AZD1222 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ไทยเลือกใช้

"ไฟเซอร์" เตรียมยื่นจดทะเบียนวัคซีนโควิดปลายเดือนพ.ย.

โมเดอร์นาเตรียมเปิดตัว "วัคซีนโควิด" ใช้งานทั่วโลก

 

ด้านเจ้าหน้าที่รัฐบาลของเยอรมนีก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกันว่า มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนซึ่งคาดว่าจะเป็นในเดือนธ.ค.ทันทีที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (อียู) นายเย็นส์ ชปาห์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเยอรมนี เปิดเผยผ่านสถานีวิทยุบาวาเรียน เรดิโอ ว่า ณ ขณะนี้ เป็นที่คาดหมายว่า อียูจะอนุมัติการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคภายในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้

ไฟแนนเชียลไทม์รายงานโดยอ้างอิงเอกสารลับที่ได้มา ว่าสำนักงานคณะกรรมการยาแห่งยุโรป หรือ อีเอ็มเอ (European Medicines Agency) มีกำหนดประชุมในเดือนธ.ค.นี้เพื่อพิจารณาการอนุมัติใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างบริษัทไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทค และวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทโมเดอร์นาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากมีการอนุมัติใช้วัคซีนอย่างเป็นทางการแล้ว 27 ประเทศสมาชิกของอียูก็จะสามารถเริ่มการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนก่อนสิ้นปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของอีเอ็มเอให้ความเห็นว่า ขั้นตอนการพิจารณายังคงมีอุปสรรคอีกหลายอย่าง หากมีเรื่องใดที่เป็นจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดในการทดสอบ ก็อาจจะทำให้ทั้งกระบวนการต้องถอยกลับไปทดสอบกันใหม่อีกจนกว่าจะมั่นใจ

 

สำหรับอังกฤษเองแม้จะกำลังอยู่ในกระบวนการแยกตัวออกจากอียู หรือที่รู้จักกันในนามกระบวนการ “เบร็กซิท” (Brexit) แต่โดยหลักการแล้วก็ยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของอียูไปจนถึงวันที่ 1 ม.ค. 2564 ซึ่งหมายรวมถึงกฎเกณฑ์การอนุมัติใช้ยาซึ่งโดยหลักการแล้วก็ควรต้องอยู่ภายใต้อีเอ็มเอไปจนถึงสิ้นปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีการแก้ไขกฎระเบียบในปี 2555 หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องยาของอังกฤษ สามารถอ้างความจำเป็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุขภายในประเทศ อนุมัติการใช้วัคซีนก่อนที่ทางอีเอ็มเอจะให้การอนุมัติ

 

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การอนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 นั้นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดสะท้อนให้เห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องมีวัคซีนออกมาระงับยับยั้งโรคระบาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจว่าวัคซีนที่จะได้รับการอนุมัตินำออกมาใช้นั้นน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยอย่างแท้จริง

 

อีเอ็มเอซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการใช้ยาของอียูตกอยู่ภายใต้แรงกดดันมากเป็นพิเศษเนื่องจากเห็นได้ชัดว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ กำลังจะอนุมัติการใช้วัคซีนก่อนแล้วในเร็ว ๆนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม อีเอ็มเอได้ออกแถลงการณ์เมื่อเร็ว ๆนี้ว่า การอนุมัติใช้วัคซีนของอียูไม่มีแรงกดดันทางการเมืองแต่อย่างใด ประเด็นที่ว่าจะอนุมัติ หรือไม่อนุมัตินั้น จะขึ้นอยู่กับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพของวัคซีนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ “เราจะอนุมัติการใช้วัคซีนเมื่อมีหลักฐานมั่นใจว่า วัคซีนนั้นมีประโยชน์เหนือกว่าความเสี่ยง”

 

ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายว่า ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์หรืออาสาสมัครด้านสาธารณสุขที่เป็นแนวหน้า หรือด่านแรก ในการสัมผัสสัมพันธ์กับผู้ป่วยโควิด-19 บุคลากรเหล่านี้เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนทันทีที่มีการอนุมัติใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนการผลิตวัคซีนจนสามารถได้ปริมาณมากพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้นั้นคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีหน้า (2564) ดังนั้น การฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนจึงคาดว่าจะเป็นในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน