ผลวิจัยชี้มาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิดทำให้ผู้หญิงทั่วโลกตกงานเพิ่มขึ้น

28 พ.ย. 2563 | 00:04 น.

 ผู้หญิงทั่วโลกตกงานเพิ่มขึ้น เหตุต้องดูแลลูกหลังโรงเรียนถูกปิดยาวจากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนราว 1.7 พันล้านคน

 

องค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) เปิดเผยผลงานวิจัยวานนี้ (27 พ.ย.) ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ ผู้หญิงที่เป็นแม่ในกลุ่มแรงงานทั่วโลกต้องออกจากงาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไปอีกหลายปี

 

งานวิจัยของ UN Women พบว่า สาเหตุหลักในหลายประเทศที่ทำให้แม่ต้องออกจากงานเพราะต้องดูแลลูก เนื่องจากในช่วงที่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดนั้น มีเด็กราว 1,700 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน ขณะที่เด็ก 224 ล้านคนไม่ได้กลับไปเรียนหนังสือ ทำให้หลายครอบครัวต้องตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้ดูแลเด็ก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเป็นผู้หญิง เพราะได้รับค่าแรงน้อยกว่าและมีงานที่มั่นคงน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงต้องยอมเสียสละอาชีพของตัวเองโดยออกจากงาน

 

นอกจากนี้ ในบางประเทศ ผู้หญิงต้องทำงานมากกว่าผู้ชายถึง 11 เท่าในการดูแลครอบครัวและคนรอบข้างโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด

 

สิ่งที่ UN กังวลอยู่ในขณะนี้ก็คือ ผู้หญิงเหล่านี้อาจไม่ได้กลับไปทำงานอีก โดยเฉพาะในพื้นที่ ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19 เช่น ลาตินอเมริกา โดยผลวิจัยพบว่า มีผู้หญิง 83 ล้านคนที่อยู่นอกระบบแรงงาน เพิ่มขึ้นจากระดับก่อนเกิดโควิดซึ่งอยู่ที่ 66 ล้านคน

 

ทั้งนี้ ล่าสุดจากข้อมูลของ Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ (28 พ.ย.) อยู่ที่ 61,450,322 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,440,605 ราย โดยสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (13,249,447 ราย) รองลงมาคืออินเดีย (9,309,871 ราย) บราซิล (6,204,570 ราย) รัสเซีย (2,215,533 ราย) และฝรั่งเศส (2,183,660 ราย)

 

ส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านรายได้แก่ สเปน อังกฤษ อิตาลี อาร์เจนตินา โคลอมเบีย เม็กซิโก และเยอรมนี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยูเอ็นเผย “ล็อกดาวน์” มีส่วนเพิ่มการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน

ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 61.9 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.8 แสนราย

 

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงสุดในโลก (269,597 ราย) ตามมาด้วยบราซิล (171,497 ราย) อินเดีย (135,752 ราย) เม็กซิโก (104,242 ราย) และอังกฤษ (57,031 ราย)