FDI ฟัดเดือดใน “เมียนมา” สิงคโปร์เบอร์1-ไทยรั้งเบอร์7

27 พ.ย. 2563 | 07:28 น.

เมียนมาเผยปีงบฯ 2562/63 FDI หรือทุนต่างชาติไหลเข้ากว่า 1.73 แสนล้าน สิงคโปร์นำเบอร์ 1 ไทยรั้งเบอร์ 7 สาขาพลังงาน-การผลิต-อสังหาฯฮิต ขณะหวังอานิสงส์ RECP แม่เหล็กดูดลงทุนเพิ่ม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา  รายงานว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งเมียนมา (Myanmar Investment Commission : MIC) ได้รายงานภาพรวมด้านการลงทุนทางตรงของต่างประเทศในเมียนมา (FDI) ของปีงบประมาณ 2019-2520 (2562-2563)ของเมียนมา (ต.ค.2562- ก.ย.2563)ว่า ได้อนุมัติโครงการเป็นมูลค่า 5,525.973 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 173,349.77 ล้านบาท) โดยพบว่าสิงคโปร์มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.6 รองลงมาคือ ฮ่องกง มีการลงทุนเป็นอันดับ 2 สัดส่วนร้อยละ 25.7 ตามด้วยญี่ปุ่นอันดับที่ 3 สัดส่วนร้อยละ 13.9 อันดับที่ 4 ได้แก่ จีน มีการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 และสหราชอาณาจักร เป็นอันดับที่ 5 สัดส่วนร้อยละ 7.7 เกาหลีใต้อันดับที่ 6 สัดส่วนร้อยละ 1.7 ขณะที่ไทยมีการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 7 คิดเป็นร้อยละ 1.4

 

สำหรับมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศที่เคยได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมาย Myanmar Investment Law (MIL) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2016-2017 (2559-2560) จนถึงปีงบประมาณ 2019-2020 (2562-2563)มีมูลค่าทั้งสิ้น 23,817.046 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 747,140.73 ล้านบาท) โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมียนมาสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่  สิงคโปร์  จีน  ฮ่องกง  เวียดนาม และญี่ปุ่น ตามลำดับ โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ในขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมาย Special Economic Zone (SEZ) มีมูลค่าการลงทุนคงเหลือทั้งสิ้น 1,369.621 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 42,965.01 ล้านบาท) จากประเทศผู้ลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  ไทย  ฮ่องกง  เกาหลีใต้ และไต้หวัน

 

ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในเมียนมามากที่สุด 3 อันดับแรก ในปีงบประมาณ 2019-2020 (2562-2563) ได้แก่ 1) สาขาพลังงาน 2) อุตสาหกรรมการผลิต และ 3) อสังหาริมทรัพย์ ตามลำดับ สำหรับสาขาการลงทุนจากต่างประเทศสะสมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2016-2017 (2559-2560) จนถึง 2019-2020 (2562-2563)ภายใต้ กฎหมาย Myanmar Investment Law (MIL) สามอันดับแรกได้แก่ ได้แก่ กลุ่มคมนาคมและการสื่อสาร อุตสาหกรรมการผลิต และอสังหาริมทรัพย์ตามลำดับ ในขณะที่สาขาการลงทุนจากต่างประเทศที่ภายใต้ กฎหมาย SEZ สูงสุดสามอันดับแรกได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการผลิต 2) Trading และ 3) บริการอื่นๆ

 

ในเดือนแรกของปีงบประมาณ 2020-2021(2563-2564) ของเมียนมา (เริ่มตุลาคม 2563) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของเมียนมามีมูลค่า 1,458.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 45,767.58 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 โดยในด้านของการส่งออกมีมูลค่า 506.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 15,902.71 ล้านบาท) หดตัว ร้อยละ 57.7 การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของเมียนมามีมูลค่า 952.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 29,864.87 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 11.3 โดยขาดดุลการค้าเป็นมูลค่า 445.08 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 13,962.16 ล้านบาท)

 

FDI ฟัดเดือดใน “เมียนมา” สิงคโปร์เบอร์1-ไทยรั้งเบอร์7

 

สคต. ณ กรุงย่างกุ้ง ยังได้รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลของ The Myanmar Times ระบุสถาบันวิจัย Oxford Business Group วิเคราะห์ว่า จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งผลักดันโดยกลุ่มประเทศอาเซียนและได้มีการลงนามความตกลงกันแล้ว(เมื่อ 15 พ.ย.63)จะสามารถกระตุ้นภาคการผลิตในเมียนมา โดยเมียนมาสามารถใช้ประโยชน์จากนโยบายในการขยายฐานการผลิตของประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP 15 ประเทศ ซึ่งเป็นความตกลงขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

Mr. Peter Crowhurst CEO ของสภาหอการค้าอังกฤษในเมียนมา (British Chamber of Commerce Myanmar) กล่าวว่า ผู้ผลิตทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลกที่ต้องการมีส่วนร่วมในตลาดอาเซียนต่างแสวงหาประโยชน์จากโอกาสทางธุรกิจการค้าในประเทศเมียนมา ทั้งนี้เมียนมาถือเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งการผลิตโดยรวมของประเทศยังอยู่ในขั้นปฐมภูมิ

 

อย่างไรก็ตามเมียนมาถือว่ามีต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศอื่น มีการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน และรัฐบาลที่มีนโยบายเปิดรับเพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนให้มีความหลากหลายในทุกด้าน นอกจากนี้ Mr. Peter Crowhurst เชื่อมั่นรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรค NLD ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา จะผลักดันให้มีการปฏิรูปเพื่อให้เมียนมาสามารถได้รับประโยชน์จาก RCEP ได้มากขึ้น โดยในขณะนี้ถือเป็นเวลาที่รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี ควรจะต้องดำเนินการเสริมสร้างขีดความสามารถให้แก่กระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนและสร้างความสมดุล ในการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบ RCEP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

FDI ฟัดเดือดใน “เมียนมา” สิงคโปร์เบอร์1-ไทยรั้งเบอร์7

                                         อองซาน ซูจี

 

โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติลงทุนในภาคธุรกิจการผลิตในเมียนมา จำนวน 711 ราย ซึ่งมีมูลค่ารวมมากกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 182,352 ล้านบาท) นอกจากนี้ บริษัทส่วนใหญ่ ที่มาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศเมียนมานั้น เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศสิงคโปร์โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 50 ราย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 33,431 ล้านบาท) ทั้งนี้ DICA (Directorate of Investment and Company Administration ที่มีหน้าที่หลักในการรับจดทะเบียนบริษัททั้งการเปิดบริษัทของชาวเมียนมาร์และชาวต่างประเทศ) ได้รายงานว่า ในระหว่างช่วงปี 2559 – 2563 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นสาขาที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 224,900 ล้านบาท)