ยูเอ็นเผย “ล็อกดาวน์” มีส่วนเพิ่มการใช้ความรุนแรงในครัวเรือน

26 พ.ย. 2563 | 03:07 น.

สหประชาชาติเผย การใช้ความรุนแรงในครัวเรือน ซึ่งรวมทั้งการใช้ความรุนแรงกับสตรีทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และเยาวชน เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงที่หลายประเทศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

เนื่องใน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence Against Women) ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย. สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เปิดเผยว่า สตรีทั่วโลกยังคงตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงในครอบครัว นอกจากนี้ ยังพบว่ามาตรการปิดเมือง หรือ การล็อกดาวน์ ที่ทำให้มีการจำกัดการเดินทางของผู้คน ปิดร้านค้าภาคธุรกิจที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนกักตัวอยู่กับบ้านหรือทำงานจากบ้านเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลับกลายเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดคดีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อผู้หญิงและเด็กต้องอยู่กับบ้านและเผชิญหน้ากับสมาชิกผู้ชายในครอบครัวที่นิยมใช้ความรุนแรง

 

การชุมนุมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในเมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี วานนี้ (25 พ.ย)

มีรายงานว่าในบางประเทศ ทั้งศูนย์พักพิงสำหรับสตรีที่มีปัญหาในครอบครัวและสายด่วนฮอตไลน์สำหรับช่วยเหลือและให้คำปรึกษาที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว มีการโทรเข้ามาปรึกษาเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มาตรการล็อกดาวน์   

 

นางฟุมไซล์ มลัมโบ-คูกา ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกิจการสตรีของยูเอ็น เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก ซึ่งทำให้มีการประกาศมาตรการคุมเข้ม (ล็อกดาวน์) เพื่อสกัดการแพร่ระบาดตามมา พบว่ามีการร้องเรียนมากขึ้นหลายเท่าตามมาด้วยเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรีในครัวเรือน ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะเด็กและสตรีต้องใช้เวลามากขึ้นอยู่ในบ้านที่ไม่ปลอดภัยจากบรรดาบุรุษที่นิยมใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 60.6 ล้านราย เพิ่มขึ้น 5.7 แสนราย

 

“การที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงนั้นมันคือโรคระบาดใหญ่ที่มีมาก่อนไวรัสเนิ่นนานแล้ว และยังจะมียาวนานต่อไปแม้เมื่อมนุษย์สามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องร่วมมือกันในระดับโลก ทำงานประสานกัน และบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งข้อตกลงต่าง ๆที่มีอยู่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงนี้ เพราะมันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างและเกิดขึ้นได้กับทุกวัยของสตรี” นางฟุมไซล์กล่าว

ในปีที่ผ่านมา (2562) มีรายงานการใช้ความรุนแรงต่อสตรี 243 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นการใช้ความรุนแรงที่เกิดจากสามีหรือคนรักของพวกเธอเอง ส่วนปีนี้ แม้ยังไม่มีสรุปยอดรวม แต่ก็มีรายงานการใช้ความารุนแรงในครัวเรือนหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ การใช้กำลังทารุณกรรมเด็กและสตรี การบังคับเด็กผู้หญิงสมรสก่อนวัยอันควร และการคุกคามทางอินเตอร์เน็ต

การชุมนุมแสดงพลังสตรีในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

และเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) ในหลายประเทศได้มีการจัดกิจกรรมเช่น ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี สตรีหลายร้อยคนได้ร่วมชุมนุมบนท้องถนนเพื่อรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับเด็กและสตรี และร้องขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรงต่อสตรีอย่างเฉียบขาด  “ผู้หญิงเราต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงเกือบทุกวัน แต่ผู้ก่อเหตุก็ยังคงลอยหน้าลอยตาในสังคม โดยไม่มีใครเอาผิด”   

 

ในประเทศอิตาลีซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีการประกาศใช้มาตรการปิดประเทศอย่างเข้มข้นระหว่างเดือนมี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19  สตรีจำนวนมากได้มารวมตัวชุมนุมกันหน้ารัฐสภาเพื่อประท้วงการใช้ความรุนแรงกับสตรี โดยพวกเธอถือป้ายชูข้อความ “ผู้หญิงไม่ใช่ของเล่นของใคร” และ “ถ้าแตะต้องเรา คุณแตะทุกคน”

 

จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมอิตาลี (IESRI) พบว่า มาตรการกักตัวที่ทำให้ประชาชนต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดคดีอาญาในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยเหยื่อเป็นสตรีในครัวเรือนและผู้ก่อเหตุก็คือสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนว่า “บ้าน” ยังคงเป็นสถานที่แห่งความขัดแย้งและสร้างความรุนแรงให้กับผู้หญิง

ที่สเปนมีการยืนสงบนิ่ง 1 นาทีเพื่อรำลึกถึงสตรีที่เป็นเหยื่อของคดีการใช้ความรุนแรง ขณะที่ในโปรตุเกสมีการเปิดเผยรายงานที่ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 มานี้ มีสตรีถูกฆาตกรรมจำนวน 30 คน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

ส่วนที่ประเทศเยอรมนี นางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรี กล่าวเนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลว่า เยอรมนีมีสถิติ ทุก ๆ 45 นาทีจะมีสตรีถูกทำร้าย 1 คนโดยอดีตคนรักหรือคนรักของพวกเธอในปัจจุบัน “นี่คือข้อเท็จจริงที่โหดร้าย ทุก ๆ คดีมีเรื่องราวที่เลวร้าย เราต้องไม่เพิกเฉยหรือแสร้งทำไม่รู้ไม่เห็นเมื่อพบผู้หญิงหรือเด็กถูกขู่คุกคามด้วยกำลังหรือความรุนแรง”