ไบเดนลั่น "ชัตดาวน์ไวรัส" ไม่ชัตดาวน์เศรษฐกิจ

23 พ.ย. 2563 | 12:22 น.

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และบางพื้นที่ต้องเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่นายโจ ไบเดน ว่าที่ปธน.สหรัฐคนใหม่ ยืนกรานว่านโยบายของเขาจะเข้มงวดควบคุมการแพร่ระบาด แต่จะไม่ “ชัตดาวน์”เศรษฐกิจทั้งประเทศ

 

นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ กล่าวยืนยันวันนี้ (23 พ.ย.) ว่า เขาจะไม่ออกคำสั่งล็อกดาวน์สหรัฐทั้งประเทศ เพื่อควบคุม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่ในระดับสูง และบางรัฐเช่น แคลิฟอร์เนีย ต้องประกาศเคอร์ฟิว เมื่อเร็ว ๆนี้เพื่อควบคุมสถานการณ์

นายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่

"ผมจะไม่สั่งชัตดาวน์เศรษฐกิจ แต่ผมจะชัตดาวน์ไวรัส ผมขอย้ำว่าจะไม่มีการชัตดาวน์ทั้งประเทศอีกแล้ว" ไบเดนระบุ

 

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวดีมากขึ้นจากฝั่งผู้พัฒนาวัคซีนหลายราย ซึ่งสร้างความหวังให้กับตลาดการเงิน แม้ว่าตลาดสหรัฐจะยังคงถูกกดดันจากการที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลัง ยืนยันว่าจะไม่ต่ออายุโครงการเงินกู้ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ก็ส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมในตลาด โดยเช้าวันนี้ (23 พ.ย. เวลาท้องถิ่นสหรัฐ หรือประมาณ 17.51 น.ตามเวลาไทย ) ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้น 216 จุด หรือ 0.74% สู่ระดับ 29,428 จุด หลังเปิดตลาดได้ไม่นาน บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นวอลล์สตรีทจะดีดตัวขึ้นในคืนนี้ (เวลาไทย) ขานรับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี สหรัฐเตรียมฉีดวัคซีนให้แพทย์-พยาบาล “ด่านหน้าโควิด” ธ.ค.นี้

เผยจุดเด่นวัคซีนต้านโควิด“โมเดอร์นา” ขนส่งสะดวก-จัดเก็บได้ดีในอุณหภูมิไม่ต่ำมาก

อย.สหรัฐเตรียมอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดของ "โมเดอร์นา-ไฟเซอร์" 

 

 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นทิศทางเชิงบวกที่สวนทางกับเมื่อวันศุกร์ (20 พ.ย.) ซึ่งดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 200 จุดจากหลากปัจจัย โดยหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ การล็อกดาวน์ในบางพื้นที่เพื่อควบคุมโรคระบาด รวมทั้งระยะเวลาที่ยาวนานในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ขณะนี้สหรัฐยังคงครองอันดับ 1 ของโลก ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต โดยสหรัฐมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 12 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 260,000 ราย

ไบเดนลั่น "ชัตดาวน์ไวรัส" ไม่ชัตดาวน์เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีที่เป็นปัจจัยบวกเมื่อไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และไบโอเอ็นเทค ( BioNTech) บริษัทยาของเยอรมนี ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันศุกร์ (20 พ.ย.)  เพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน

 

ข่าวระบุว่า หาก FDA ให้การอนุมัติ ก็จะส่งผลให้ไฟเซอร์สามารถทยอยใช้วัคซีนดังกล่าวกับชาวอเมริกันกลุ่มต่าง ๆ โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน ขณะที่กลุ่มผู้ให้บริการในภาคส่วนที่สำคัญ ครูอาจารย์ คนจรจัด และนักโทษในเรือนจำ จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มต่อไป ตามมาด้วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่น

 

ทั้งนี้ ไฟเซอร์นับเป็นบริษัทแรกที่ยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ต่อ FDA เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยบริษัทระบุว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิภาพมากถึง 95% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งสูงกว่าวัคซีนของโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งให้ผล 94.5%

 

ส่วนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ผู้พัฒนาวัคซีนอีกราย เปิดเผยในวันนี้ (23 พ.ย.) ว่า ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดมีประสิทธิภาพ 70% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19

 

นอกเหนือจากนี้ FDA ยังได้ให้การอนุมัติการใช้แอนติบอดีของบริษัท รีเจนเนอรอน ( Regeneron) ในการรักษาโรคโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยได้รับก่อนหน้านี้