"กิลเลียด" ผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์แถลงโต้ WHO ยัน 50 ประเทศไฟเขียวให้ใช้รักษาโควิด-19 แล้ว

20 พ.ย. 2563 | 05:07 น.

"กิลเลียด" แถลงยันยา “เรมเดซิเวียร์” ได้ไฟเขียวใช้รักษาโควิดใน50 ประเทศ

 

บริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส (Gilead Sciences) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์วันนี้ (20 พ.ย.) แสดงความผิดหวังที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำไม่ให้แพทย์ใช้ ยาเรมเดซิเวียร์ (remdesivir) ของบริษัทในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทั้ง ๆที่ยาดังกล่าว ได้รับการอนุมัติให้ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในราว 50 ประเทศทั่วโลก 

 

"ยาเรมเดซิเวียร์เป็นที่ยอมรับจากหลายองค์กรที่น่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงสถาบันสาธารณสุขและโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ว่าเป็นยาที่มีมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล" นายคริส ริดลีย์ โฆษกของกิลเลียดระบุในแถลงการณ์

"กิลเลียด" ผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์แถลงโต้ WHO ยัน 50 ประเทศไฟเขียวให้ใช้รักษาโควิด-19 แล้ว

 

"เรารู้สึกผิดหวังกับคำแนะนำของ WHO ที่ดูเหมือนจะเพิกเฉยต่อหลักฐานนี้ในช่วงเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งขึ้นอย่างมาก และบรรดาแพทย์ก็ต้องพึ่งพา ยา Veklury (remdesivir) ของกิลเลียด หลังจากที่ยาของเราได้รับอนุมัติเป็นตัวแรกและตัวเดียวให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในราว 50 ประเทศ" นายริดลีย์กล่าว

 

ยา Veklury (remdesivir) ของบริษัทกิลเลียดฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี สหรัฐเตรียมฉีดวัคซีนให้แพทย์-พยาบาล “ด่านหน้าโควิด” ธ.ค.นี้

โลกขานรับข่าวดีวัคซีน เชื่อการแพร่ระบาดของโควิด สามารถยุติในปี 64

อย.สหรัฐเตรียมอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดของ "โมเดอร์นา-ไฟเซอร์" โดยเร็วที่สุด

เผยจุดเด่นวัคซีนต้านโควิด“โมเดอร์นา” ขนส่งสะดวก-จัดเก็บได้ดีในอุณหภูมิไม่ต่ำมาก

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ยาเรมเดซิเวียร์ ได้รับความสนใจจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในยาที่ใช้รักษาประธาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จนหายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี นายแพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาวก็ยังยอมรับว่า ยาเรมเดซิเวียร์เป็นมาตรฐานใหม่ที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

ถ้อยแถลงของบริษัทกิลเลียดฯมีขึ้นหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำไม่ให้แพทย์ใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสของบริษัทกิลเลียด ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดย WHO ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ยาดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือร่นระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วย

 

WHO Guideline Development Group (GDG) ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่าง ๆ แก่ WHO ระบุว่า คำแนะนำของ GDG อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลใหม่ที่นำมาเปรียบเทียบกับผลของการรักษาด้วยยาหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงข้อมูลจากการทดลองใช้ยาเรมเดซิเวียร์ทั่วโลกจำนวน 4 ครั้ง โดยใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่า 7,000 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล