อนาคตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงอันตราย

23 เม.ย. 2559 | 04:30 น.
สภาวะความแห้งแล้งรุนแรงที่เกิดจากเอลนิโญ ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงลดลงมากกว่าปกติ กระทบประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยพื้นที่ที่โดนผลกระทบหนักที่สุดคือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว พืชเกษตรและสัตว์น้ำ ใหญ่ของเวียดนามเนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่ลดลงทำให้น้ำเค็มรุกเข้าไปในแม่น้ำไกลถึง 90 กิโลเมตร

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แม้ประเทศจีน จะช่วยปล่อยน้ำจากเขื่อนที่จีนสร้างกั้นแม่น้ำโขงในช่วงต้นน้ำช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อช่วยประเทศที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน แต่น้ำก็ไปไม่ถึงไร่อ้อยในเวียดนาม โดยนาย เหงียน วัน ทัค (Nguyen Van Thach) ชาวไร่อ้อยวัย 62 ปีที่ปลูกอ้อยในจังหวัดซ็อค จัง ซึ่งอยู่ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ให้สัมภาษณ์ว่า อ้อยที่ปลูกไว้แห้งตายและมีรสเค็ม ขนาดวัวยังไม่ยอมกิน

นายทัค ต้องทิ้งไร่อ้อยหลังจากขาดทุน 10 ล้านดอง (ประมาณ 16,000 บาท) และหันไปทำงานเป็นคนงานก่อสร้างเพื่อหาเงินใช้หนี้ของครอบครัว

รอยเตอร์รายงานว่า ปัญหาน้ำเค็มในแม่น้ำและคูคลองแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเจอ มีผลกระทบอย่างหนักต่อพื้นที่ปลูกข้าว 60% ของพื้นที่ทั้งหมดและ ทำให้ผลผลิตกุ้งและปลาลดลง

รอยเตอร์ระบุว่า ภาวะน้ำในแม่น้ำโขงลดลงผิดปกติ อาจจะเป็นนิวนอร์มอล ของแม่น้ำโขงและกระทบต่อชีวิตของคนกว่า 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งยาว 4,900 กิโลเมตร ผ่าน 4 ประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆ ทั้งจีน ลาว ไทย และกัมพูชามีแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงรวม 36 แห่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า การสร้างเขื่อนเหล่านี้จะมีผลต่อระดับน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและชลประทานในพื้นที่ใต้เขื่อน

รอยเตอร์ระบุว่า น้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนของจีนที่กั้นแม่น้ำโขงในช่วงต้นน้ำช่วยแก้ปัญหาปลายน้ำอย่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งมีคนอาศัยอยู่ประมาณ 20 ล้านคนได้น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้เนื่องจากพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเจอปัญหาแล้งฝนตกน้อยซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปีอยู่แล้ว

นายเหงียน ฮู เทียน นักนิเวศวิทยาอิสระ ของเวียดนามซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกล่าวว่า “ในสภาวะที่โลกกำลังประสบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดบ่อยขึ้น จากเดิมที่ประเมินว่าภาวะอากาศร้อนแบบนี้จะเกิดขึ้นทุก 90 ปีอาจจะกลายเป็นทุก 20 ปี”

นายเทียนระบุว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้น้ำเค็มเข้าพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลึกมากเนื่องจากพื้นที่ดินบริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพียง 2 เมตรกำลังทรุดตัวลงเนื่องจากการขุดน้ำบาดาลและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากปัญหาโลกร้อน

ผลกระทบที่เกิดจากภาวะน้ำเค็มในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม คือผลผลิตสินค้าสำหรับการส่งออกลดลง โดยมีรายงานว่า ไตรมาสแรกปีนี้ภาคเกษตรของเวียดนามขยายตัวติดลบ 2.69% และเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวอยู่ที่ 5.56 % ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญคือ ข้าว กาแฟ พริกไทย ปลาและกุ้งแปรรูป

หน่วยงานรัฐบาลรายงานจนถึงวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมาระบุว่า ผลผลิตสินค้าเกษตรในปีนี้เสียหายไปแล้วมีมูลค่า 5.57 ล้านล้านดอง (ประมาณ 9,000 ล้านบาท) โดยสัดส่วนความเสียหายเกิดขึ้นจากผลผลิตที่ลดลงของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงถึง 70% ส่วนใหญ่เป็นข้าวและน้ำตาล โดยมีรายงานว่าน้ำตาลมีผลผลิตลดลง 11% ขณะที่กาแฟซึ่งส่วนใหญ่ปลูกในที่ราบสูงภาคกลางก็กระทบไปด้วยโดยเวียดนามเป็นผู้ผลิตกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

ทางด้านผลผลิตกุ้งซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปขายสหรัฐอเมริกา กระทรวงเกษตรเวียดนามรายงานว่า ไตรมาสแรกปีนี้เวียดนามส่งกุ้งไปขายสหรัฐอเมริกา 91,900 ตัน ลดลง 1% เทียบกับระยะเดียวกันในปีที่แล้ว

รอยเตอร์อ้างคำสัมภาษณ์นักอนุรักษ์นิยม ระบุว่า ปัญหาน้ำในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต โดยขณะนี้จีนสามารถควบคุมปริมาณน้ำได้จากการสร้างเขื่อนหลายแห่งในพื้นที่ต้นน้ำ ขณะที่ไทย กัมพูชา และลาวมีแผนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีก 11 แห่ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อปริมาณน้ำถึง 82% ซึ่งนอกจากจะทำให้ปริมาณน้ำลดลงแล้วยังทำให้ดินตะกอนลดน้อยลง ซึ่งมีผลต่อการทรุดตัวของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

นักอนุรักษ์นิยมชี้ว่า เขื่อนต่างๆ ที่สร้างแล้วและกำลังจะสร้างขึ้น จะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในอนาคตอย่างแน่นอน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้แค่เป็นแค่หนังตัวอย่างเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559