"โบอิ้ง" ขาดทุนยับ 4 ไตรมาส เตรียมปลดพนักงานอีกกว่า 1 หมื่นอัตรา

29 ต.ค. 2563 | 06:39 น.

หลังขาดทุนติดกัน 4 ไตรมาส บริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของสหรัฐ ก็ประกาศเตรียมปลดพนักงานเพิ่มเติมอีกกว่า 10,000 ตำแหน่ง

 

ภาวะขาดทุนติดต่อกัน 4 ไตรมาสของ "โบอิ้ง" เป็นผลกระทบจาก การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งการที่เครื่องบินรุ่น โบอิ้ง 737 MAX ของบริษัทยังคงถูกสั่งห้ามบิน หลังจากที่เครื่องบิน 2 ลำของรุ่นดังกล่าวได้ประสบอุบัติเหตุตกลงในปี 2561 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 346 คน

นายเดฟ คาลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโบอิ้ง

นายเดฟ คาลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโบอิ้ง ได้เปิดเผยกับพนักงานของบริษัทว่า โบอิ้งต้องปลดพนักงานออกราว 30,000 คน เพื่อให้บริษัทมีพนักงานเหลืออยู่ประมาณ 130,000 คน จากจำนวนพนักงานกว่า 160,000 คน ภายในสิ้นปี 2564

 

ทั้งนี้ โบอิ้งได้เปิดให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งในการประกาศรอบล่าสุดนี้จะส่งผลให้ต้องมีพนักงานที่ถูกปลดเพิ่มเติมอีกราว 11,000 ตำแหน่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปิดตำนาน 52 ปี โบอิ้ง ประกาศยุติผลิตเครื่องบิน 747

โบอิ้ง 787 หรือ “เจ็ด-แปด-จอด” ? บทเรียน "การบินไทย"

“สายการบินต้องปรับตัวครั้งใหญ่” เดฟ คอลฮูน ซีอีโอ บ.โบอิ้ง

 

นอกจากนี้ ผู้บริหารของโบอิ้งยังคาดการณ์ด้วยว่า การเดินทางทางอากาศทั่วโลกตลอดปี 2563 นี้จะลดลงเหลือเพียง 30-35% เมื่อเทียบกับระดับของปีที่แล้ว และอาจต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 ปีจึงสามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

"โบอิ้ง" ขาดทุนยับ 4 ไตรมาส เตรียมปลดพนักงานอีกกว่า 1 หมื่นอัตรา

นายคาฮูลยังกล่าวเสริมว่า กฎข้อบังคับที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดอุบัติเหตุกับเครื่องบินรุ่น 737 MAX จะส่งผลให้การเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 777X รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาด 400 ที่นั่งต้องล่าช้าออกไป

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) อาจพิจารณาทบทวนคำสั่งห้ามบินที่ได้บังคับใช้ต่อเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ในเร็ว ๆนี้ ซึ่งหาก FAA ให้การอนุมัติต่อแผนการปรับปรุงระบบซอฟท์แวร์ และการฝึกอบรมของบริษัท ก็จะทำให้เครื่องบินรุ่นดังกล่าวสามารถกลับมาให้บริการได้ภายในปีหน้า (2564)