“ค้าออนไลน์”ฟิลิปปินส์บูมสนั่น แห่จดทะเบียน 7.3 หมื่นราย

23 ก.ย. 2563 | 12:14 น.

โควิด-19 ดันค้าออนไลน์ฟิลิปปินส์บูม ช่วง 5 เดือนแรก แห่จดทะเบียนธุรกิจแล้วกว่า 7.3 หมื่นราย ทูตพาณิชย์ชี้เป็นช่องทางใหม่ สร้างโอกาสสินค้าไทยเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเพิ่ม

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รายงานว่า ตลาดค้าออนไลน์ในฟิลิปปินส์โตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการหันมาทำการค้าออนไลน์รับกับพฤติกรรม New Normal ของผู้บริโภค โดยยอดขอจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ในช่วงโควิด-19 ช่วง  5 เดือนแรกปีนี้ ทะลุกว่า 73,000 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาช่องทางออนไลน์และมีทำธุรกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด

 

 โดยช่วงระยะเวลาที่ผู้ประกอบการได้ยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์สูงสุดคือ ช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 รวม ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่มีการใช้มาตรการกักกันชุมชนที่เข้มงวดในหลายพื้นที่ของ เกาะลู ซอน รวมถึงเขตเมโทรมะนิลา ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ เรียกว่า New Normal ที่ผู้คนต้องหันไปพึ่งพาโลกออนไลน์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยยอดการใช้อี-คอมเมิร์ซในฟิลิปปินส์ได้เร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างสูงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาทำให้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ (DTI) ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ค้าออนไลน์กับผู้บริโภคออนไลน์ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก รวมทั้งการลดภาระค่าใช้จ่ายในธุรกิจทั้งหมด

 

ทั้งนี้ DTI และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และกรมสรรพากร กำลังร่วมกันปรับปรุงกระบวนการ/ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจให้ เป็นระบบดิจิทัลแบบสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีขั้นตอนบางส่วนเท่านั้นที่สามารถดำเนินการบนระบบออนไลน์ได้

 

สคต. ณ กรุงมะนิลา ชี้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19เป็นตัวเร่งให้ชาวฟิลิปปินส์หันมาสนใจทำธุรกรรมและ สั่งซื้อสินค้า/บริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เพื่อลดความ เสี่ยงในการติดเชื้อ โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวของผู้บริโภค ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าและบริการ ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดฯ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถประกอบกิจการหน้าร้านได้ตามปกติจึงต้องพึ่งพาช่องทางออนไลน์ในการกระจาย และซื้อขายสินค้า ทั้งการสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ของตนเอง และการจำหน่ายผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ  เช่น Instagram และ Facebook รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำ เช่น Lazada,  Zalora และ Shopee เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการและเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

โดยการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องจะช่วยรับรองการมีตัวตนและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อ/ผู้บริโภค รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าและบริการ ถือเป็นการยกระดับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของประเทศฟิลิปปินส์ให้มีศักยภาพเท่าเทียมกับประเทศอื่น ๆ และสามารถขยาย อี-คอมเมิร์ซเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต

 

จากเทรนด์ของตลาดอี-คอมเมิร์ซในฟิลิปปินส์ที่มีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางสำคัญในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าและการเข้าถึงผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้เป็นอย่างดี และแม้ว่าสถานการณ์ โควิด-19จะคลี่คลายลงในอนาคต ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ก็จะยังมีพฤติกรรมซื้อสินค้า/บริการทาง ออนไลน์ต่อไป ประกอบกับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึงการจะบังคับใช้พระราชบัญญัติ ธุรกรรมทางอินเตอร์เน็ต น่าจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในการทำการค้าขายบนโลกออนไลน์ในประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรสำรวจความเป็นไปได้ทางธุรกิจที่จะทำการตลาดออนไลน์หรือนำช่องทางออนไลน์มาเสริมจากการค้าแบบปกติ เพื่อรักษาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าชาวฟิลิปปินส์ให้เพิ่มมากขึ้น