เอกสารลับช็อกโลก FinCen แฉ แบงก์พาณิชย์ร่วมฟอกเงิน รู้ว่าผิด แต่ยังทำ

22 ก.ย. 2563 | 03:08 น.

เอกสารลับของเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงิน (FinCen) สังกัดกระทรวงการคลังสหรัฐที่รั่วออกมาเมื่อเร็ว ๆนี้ และตีแผ่โดยสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ เผยให้เห็นข้อมูลน่าสะพรึงที่ว่า เงินสกปรกมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวอย่างเสรีผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการระหว่างประเทศทั่วโลก ขณะที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายยังเอาผิดดำเนินคดีกับแบงก์ใหญ่ที่พบว่าพัวพัน น้อยครั้งมาก

 

หนึ่งในข่าวใหญ่ที่เป็นปัจจัยลบ มีผลทุบดัชนีดาวโจนส์จนร่วงลง 900 จุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (21 ก.ย.) คือกรณีเว็บไซต์ สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ (www.icij.org) ได้เผยแพร่ข้อมูลลับที่รวบรวมโดย เครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงิน (FinCen) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่ระบุว่า  ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลก ปล่อยปละให้มีการโยกย้าย “เงินผิดกฎหมาย” จำนวนมหาศาลเป็นเวลาเนิ่นนานเกือบ 2 ทศวรรษทั้งที่รู้ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายการฟอกเงิน แต่ก็ยังทำเพียงเพราะสามารถสร้างผลกำไรจากธุรกรรมมืดดังกล่าว และบ่อยครั้งที่พบว่าบางรายแม้ถูกโทษปรับไปแล้ว ก็ยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม

 

เอกสารลับช็อกโลก FinCen แฉ แบงก์พาณิชย์ร่วมฟอกเงิน รู้ว่าผิด แต่ยังทำ

ที่น่าตกใจคือเอกสารดังกล่าวมีการระบุถึงประเทศไทยด้วย โดยในข้อมูลเว็บไซต์ www.icij.org ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งของไทยถูกใช้เป็นเส้นทางในการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย จำนวนถึง 92 ครั้งผ่าน 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทย ประกอบด้วยธนาคารเอกชน 3 แห่ง และธนาคารรัฐ 1 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวม 41,308,752 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,294,244,508 บาท แยกเป็นการรับเงิน 9,558,752 ดอลลาร์ และการส่งเงิน 31,750,000 ดอลลาร์ ทั้งหมดเป็นธุรกรรมการเงินที่มีการบันทึกไว้ว่าอยู่ในระหว่างเดือน ธ.ค. 2555- ม.ค. 2559

ทั้งนี้ ธุรกรรมการโอนเงินเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุด เป็นการรับเงินโอนจากธนาคาร Israel Discount Bank Ltd ในประเทศอิสราเอลมายังธนาคารไทยในช่วงวันที่ 2 ก.ค. 2556 - 12 พ.ย. 2556 คิดเป็นจำนวนการโอนเงินทั้งสิ้น 45 ครั้ง มูลค่ารวม 5,920,731 ดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือประมาณ 185,555,709 บาท

 

ขณะที่การโอนเงินออกจากธนาคารในประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ครั้งที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นการโอนเงินไปยังธนาคาร CIMB Bank Berhad ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2556 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 698,993,500 บาท

 

ที่กล่าวมานั้นเป็นในส่วนของประเทศไทย แต่สำหรับธุรกรรมมืดในภาพกว้างระดับโลก เอกสารลับของ FinCen ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายมูลค่ามหาศาลเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี คือระหว่างปี 2542-2560 คิดเป็นมูลกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (62,720,000,000,000 บาท) จากการทำธุรกรรมจำนวนรวม 18,153 ครั้ง ซึ่ง FinCen ระบุว่า “เงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย แม้จะมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวก็ตาม”

เอกสารลับที่ใช้หัวข้อว่า "รายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย (SAR)" ที่มีจำนวนกว่า 2,100 ฉบับ เป็นเอกสารที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ ได้ยื่นต่อ FinCen ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ปรากฏชื่อธนาคารต่างประเทศรายใหญ่จำนวนหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งรวมถึงธนาคารสแตนชาร์ด,  ธนาคารเอชเอสบีซี ,เจพีมอร์แกน เชส , ดอยซ์แบงก์ และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน เป็นต้น

 

เอกสารดังกล่าวเผยว่า บ่อยครั้งที่ธนาคารพาณิชย์ได้โยกย้ายเงินของบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในแหล่งซึ่งถูกระบุว่าที่เป็น “ที่พักเงิน” เช่น หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และไม่มีการระบุถึงชื่อเจ้าของบัญชี ขณะที่พนักงานของธนาคารรายใหญ่ก็มักจะใช้กูเกิลเสิร์ชหาข้อมูลว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโอนเงินเหล่านี้

 

และที่น่าตกใจก็คือ ถึงแม้จะมีการตรวจพบว่าธนาคารใหญ่จำนวนมากละเมิดกฎหมายการฟอกเงินด้วยการยินยอมให้บริการธุรกรรมการเงินแก่ผู้ใช้บริการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงเครือข่ายอาชญากรรม และหลายรายก็ถูกตั้งโทษปรับไปแล้วก็ตามโทษฐานที่ไม่มีมาตรการที่รัดกุมดีพอในการสกัดกั้นเงินสกปรกที่ไหลเข้าสู่ระบบ  แต่ถึงกระนั้น การละเมิดกฎหมายการฟอกเงินก็ยังคงมีอยู่ โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินของสหรัฐ ก็ยังมีการเดินเรื่องดำเนินคดี หรือฟ้องร้องธนาคารใหญ่ ๆเหล่านี้น้อยมาก ซึ่งมีส่วนทำให้การฟอกเงินสกปรกผ่านระบบธนาคารระหว่างประเทศยังคงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และมูลค่าเงินที่ผ่านระบบก็มากมายมหาศาลดังปรากฎในเอกสาร

 

ยกตัวอย่างกรณีของธนาคารเจพีมอร์แกน ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ รายงานระบุธนาคารใหญ่ดังกล่าวพัวพันการทำธุรกรรมถ่ายโอนเงินให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีหรือหนีคดีอยู่ในหลายประเทศ ต่างกรรมต่างวาระกัน เช่นกรณียักยอกเงินอื้อฉาวในมาเลเซียจากกองทุน 1MDB เจพีมอร์แกนรับโอนเงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ให้กับนักการเงินที่หนีคดีนี้และกบดานอยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังยินยอมให้บริการทางการเงินแก่นักธุรกิจบริษัทพลังงานที่ตกเป็นผู้ต้องหาโกงเงินรัฐบาลเวเนซูเอลา และยังยอมเป็นธนาคารผ่องถ่ายเงินมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์ภายในช่วงเวลา 10 ปีให้กับนายพอล มานาฟอร์ท อดีตผู้จัดการคณะทำงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

รายงานระบุว่า หลังจากที่นายมานาฟอร์ทลาออกจากตำแหน่งแล้วหลังตกเป็นข่าวพัวพันการฟอกเงินและทุจริตคอร์รัปชัน ธนาคารเจพีมอร์แกนยังยินยอมทำธุรกรรมโอนเงินให้เขาเป็นมูลค่าอย่างน้อย 6.9 ล้านดอลลาร์ในห้วงเวลา 14 เดือนหลังจากที่เขาลาออกแล้ว แม้ว่าทางธนาคารจะเคยทำข้อตกลงยุติคดีความที่ทำไว้กับหน่วยงานของทางการสหรัฐในปี 2554, 2556 และ 2557 และให้คำมั่นว่าจะปรับปรุงระบบเพื่อควบคุมปัญหาการฟอกเงินผ่านระบบธนาคารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก็ยังคงมีรายงานเกี่ยวกับการฟอกเงินสกปรกผ่านระบบของธนาคารอยู่อีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่แตกต่างกับกรณีของธนาคารเอชเอสบีซี สแตนชาร์ด ดอยช์แบงก์ และแบงก์ออฟนิวยอร์ก เมลลอน ที่มีการทำสัญญากับภาครัฐว่าจะเพิ่มความเข้มงวดเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการฟอกเงิน แต่ก็ยังคงมีรายงานการชำระเงินหรือโอนเงินต้องสงสัยผ่านบัญชีของธนาคารเหล่านี้อยู่ดี    

 

ข้อมูลอ้างอิง

Global banks defy U.S. crackdowns by serving oligarchs, criminals and terrorists

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์ปิดร่วง 1.07% หลังมีข่าว 4 แบงก์ไทยเอี่ยวธุรกรรมโอนเงินต้องสงสัย

เอกสารลับ FinCen แฉ 4 แบงก์ไทย ปล่อยอาชญากร โอนเงินผิดกฎหมายกว่า 1.2 พันล้าน