เวิลด์แบงก์หั่นแนวโน้มเติบโตเศรษฐกิจไทย เอเชีย ตะวันออก แม้เริ่มฟื้นตัวแต่ก็ยังอ่อนแรง

19 เม.ย. 2559 | 12:00 น.
ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานชิ้นล่าสุดว่าด้วยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP Update)เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยังคงมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตลดลงเล็กน้อยในระหว่างปี 2559-2561 เนื่องมาจากการคาดการณ์เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้แนะนำว่าประเทศต่างๆ ควรจัดลำดับความสำคัญของนโยบายด้านการเงินและการคลังที่จะช่วยลดความเปราะบาง และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างเข้มข้น

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออก(รวมจีน) รายงานของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจาก 6.5% ในปี 2558 เหลือเพียง 6.3% ในปีนี้ (2559) และลดต่อเนื่องสู่อัตรา 6.2% ในปี 2560 สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในจีนซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปสู่การเติบโตที่ชะลอตัวลงและยั่งยืนมากขึ้น

คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะมีอัตราการเติบโตเพียง 6.7% และ 6.5% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ ซึ่งลดลงจากระดับ 6.9% ในปี 2558

นางวิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภูมิภาคนี้มีสัดส่วนในการเติบโตของเศรษฐกิจโลกถึง 2 ใน 5 เมื่อปี 2558 ซึ่งมากกว่าภูมิภาคที่กำลังพัฒนาอื่นๆรวมกันถึง 2 เท่า "เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รัดกุม รวมถึงความพยายามในการเพิ่มรายได้จากภายในประเทศของบางประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ท่ามกลางสถานการณ์ของโลกที่ท้าทายนั้น จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาด้านการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง"

รายงาน EAP Update ของธนาคารโลกยังได้วิเคราะห์โอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ภายใต้สถานการณ์อันท้าทาย ซึ่งได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง การหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ ความอ่อนแอของการค้าโลก ความตกต่ำอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงความผันผวนที่เพิ่มขึ้นของตลาดการเงินโลก

หากไม่นับรวมประเทศจีน ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ในภาพรวมมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ 4.7% ในปี 2558 และมีแนวโน้มที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2559 และ 2560 ที่อัตรา 4.8% และ 4.9% ตามลำดับ จากการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไปตามความสัมพันธ์ทางการค้าและการเงินกับประเทศที่มีรายได้สูงอื่นๆ และจีน รวมถึงระดับการพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของแต่ละประเทศอีกด้วย

 ปินส์-เวียดนามดาวเด่นอาเซียน

ในกลุ่มประเทศอาเซียน ฟิลิปปินส์และเวียดนามมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศจะเติบโตกว่า 6% ในปี 2559 ขณะที่อินโดนีเซียคาดว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตรา 5.1% ในปี 2559 และ 5.3% ในปี 2560 ซึ่งขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการปฏิรูปที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อไม่นานมานี้ และการดำเนินการในโครงการลงทุนภาครัฐ ส่วนประเทศกลุ่มอาเซียนที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก อาทิ สปป. ลาว และกัมพูชา จะยังคงได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำและอุปสงค์จากภายนอกที่ลดลง ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะต่ำกว่า 7% เล็กน้อยในช่วงปี 2559–2561 สะท้อนถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตรที่ตกต่ำ การส่งออกเสื้อผ้าที่จำกัด และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลาง

นายชูเดียร์ เชตตี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกให้ความเห็นว่า "ประเทศต่างๆ ควรนำนโยบายด้านการเงินและการคลังที่ช่วยลดการเปิดรับความเสี่ยงทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคมาปรับใช้ และดำเนินการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง"

แนะเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้อุปสงค์ต่ำลง และยังชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ รายงานของธนาคารโลกเสนอให้มีการติดตามความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวกับระดับหนี้ที่สูง การปรับตัวลดลงของราคาสินค้า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัว รวมไปถึงระดับหนี้ขององค์กรและภาคครัวเรือนที่สูงในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศ

นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังควรเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงต่อกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก

รายงานของธนาคารโลกยังได้ขอให้ใช้ความรอบคอบในด้านเศรษฐกิจมหภาคและสร้างความยั่งยืนให้กับการปฏิรูปด้านโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง "ภาพรวมของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้ ยังต้องมีนโยบายด้านการคลังที่รัดกุมยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากความผันผวนของปัจจัยภายนอก ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยการเพิ่มขึ้นของการกู้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน หรือประเทศที่มีอุปสงค์ภายนอกได้รับการสนับสนุนจากความเฟื่องฟูของราคาสินค้าโภคภัณฑ์" ส่วนหนึ่งของรายงาน EAP Update ระบุ

 ไทยโตน้อย เร่งรัฐลงทุน

ในส่วนของประเทศไทย ธนาคารโลกคาดการณ์แนวโน้มว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอจาก 2.8% ในปีที่ผ่านมา (2558) เป็น 2.5% ในปีนี้ แม้จะเห็นถึงสัญญาณการเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ต้องเผชิญกับแรงต้านในหนทางสู่การฟื้นตัวในวงกว้างและยั่งยืน ทั้งนี้ การบริโภคภายในประเทศจะช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นเล็กน้อยจากการที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการลงทุนจากภาคเอกชนภายในประเทศยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง นอกจากนี้ ยังคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะจำกัดมากขึ้นในช่วงปีหลังๆ โดยมีสาเหตุมาจากการนำเข้าที่เริ่มฟื้นตัว

ส่วนการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่มีการดำเนินการอย่างรวดเร็วในปี 2559 และ 2560 เช่น โครงการรถไฟรางคู่และการปรับปรุงระบบราง ก็จะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามในส่วนของความเสี่ยงและความท้าทายนั้น รายงานของธนาคารโลกระบุว่า การชะงักงันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบในทางลบต่อครัวเรือนที่มีฐานะยากจนในเขตเมือง โดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำซึ่งถูกจ้างให้ทำงานในระดับล่างของภาคการผลิต นอกจากนี้ รายได้ในภาคเกษตรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา เกิดจากการขึ้นราคาผลผลิตการเกษตร แต่ประสิทธิภาพการผลิตไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อราคาผลผลิตปรับลดมาอยู่ในระดับปกติและการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้ครอบคลุมทั่วถึงทุกภาคส่วน ทำให้กลุ่มประชากรผู้ยากไร้ในชนบทจะได้รับผลกระทบด้านลบ ทั้งนี้ ข้อจำกัดด้านระดับการศึกษา ทักษะ และแรงงานฐานะยากจนที่มีจำนวนมากอาจจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์ที่เกิดจากโอกาสในการจ้างงานในภาคบริการระดับสูงได้ ด้วยเหตุนี้ ความยากจนจึงมีแนวโน้มจะลดลงในอัตราที่ช้าลงทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท

  ความเสี่ยงและความท้าทายของไทย

ธนาคารโลกระบุว่า ความเสี่ยงประการแรกคือ หากเศรษฐกิจจีนตกต่ำลงพร้อมๆ กับสถานการณ์ความผันผวนทางการเงินของโลก (ซึ่งรายงานคาดว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ) ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในด้านการค้าและการเงิน เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่มีสัดส่วนถึง 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และ 8% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยนับว่ามีความหลากหลายมากทั้งด้านผลิตภัณฑ์และการตลาด อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลยังคงมีกันชนทางการเงินและการคลังอย่างเพียงพอ

ความเสี่ยงประการที่ 2 คือการกลับมาของปมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีก่อนหน้าที่รับบาลปัจจุบันจะเข้ามาบริหารประเทศ หากการปฏิรูปทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ไม่เป็นที่พอใจของประชาชนส่วนใหญ่ สถานการณ์ก็อาจนำไปสู่การประท้วงบนท้องถนน หน่วยงานของรัฐไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ และมีผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุน

สุดท้ายคือ ประชากรไทยมีอายุเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนของประชากรวัยทำงานต่อประชากรทั้งหมดอาจจะเริ่มลดลงในปี 2559 นี้ ประโยชน์จากการมีประชากรวัยทำงานจำนวนมากเหมือนในอดีตนั้นจะไม่มีส่วนช่วยให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกต่อไป นอกจากนี้ จำนวนคนยากจนที่เพิ่มขึ้นจะกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงครัวเรือนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีช่องทางการเลี้ยงชีพที่จำกัด รวมถึงครอบครัวที่มีประชากรสูงวัยอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,148 วันที่ 14 - 16 เมษายน พ.ศ. 2559