ปราก : เมืองแห่งมรดกโลกและเมืองอัจฉริยะ

06 ก.ค. 2563 | 07:08 น.

 

      

บทความพิเศษโดย:เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

เมื่อต้นปี 2563 ก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) สำนักงานกรุงปรากได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเพื่อชาวต่างชาติ (Expat Center in Prague) ขึ้น ณ กรุงปราก โดยพิธีเปิดศูนย์ข้อมูลฯ ถูกจัดขึ้นที่ Skoda Palace ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของศูนย์ข้อมูลฯ และตั้งอยู่ในอาคารเดียวกับ Prague Town Hall มีการเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจของเช็กและบุคคลต่างชาติที่มีชื่อเสียงที่พำนักอยู่ในกรุงปรากมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลและช่วยเหลือชาวต่างชาติที่จะเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงปรากในระยะยาวให้ปรับตัวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย

 

การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ สอดคล้องกับศูนย์ข้อมูลฯ ในเมืองขนาดใหญ่ของประเทศในภูมิภาคยุโรป นอกจากการเปิดให้คำแนะนำในลักษณะ walk-in ณ ศูนย์ข้อมูลฯ แล้ว ชาวต่างชาติที่สนใจจะเดินทางไปยังกรุงปรากยังสามารถสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นก่อนเดินทางได้จากเว็บไซต์ expat.praha.eu ที่มีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับกรุงปรากไว้อย่างครบถ้วน และยังมีส่วนให้สืบค้นข้อมูลสำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปพำนักที่กรุงปรากในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น เพื่อประกอบธุรกิจแบบ startup การลงทุน การศึกษาต่อ การท่องเที่ยว และยังมีการรวบรวมข้อมูลกิจกรรมสำคัญ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเหตุการณ์สำคัญในแต่ละช่วงเวลาของกรุงปรากด้วย

 

ปราก : เมืองแห่งมรดกโลกและเมืองอัจฉริยะ

การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ นี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนการสร้างกรุงปรากให้เป็นเมืองอัจฉริยะภายในปี 2573 (Smart Prague 2030) ซึ่งสำนักงานกรุงปราก ได้ประกาศแผนการดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้แนวคิด “Innovations for a Better Life in Prague” ซึ่งเน้นการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงปราก โดยแนวทางในการพัฒนาประกอบด้วย 6 สาขา ได้แก่

 

1.Mobility of the Future : เน้นการใช้ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ยานยนต์ไร้คนขับ และ share-ride 2. Data Area : เน้นการเชื่อมต่อของข้อมูลด้วยระบบอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีความปลอดภัยและทันสมัย 3.Attractive Tourism : การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เช่น การให้ข้อมูลสถานที่ เครื่องจำหน่ายบัตรเข้าชมสถานที่อัจฉริยะ และการยกระดับให้การท่องเที่ยวระหว่างสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงปรากทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น 4. Smart Building and Energy : การพัฒนาและปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยและสำนักงานให้เป็นโครงสร้างอัจฉริยะที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 

 5. People and Urban Environment : การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่บนท้องถนนและการใช้ระบบ censor เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัย เช่น การเปิด-ปิดไฟส่องสว่างตามถนน และการควบคุมมลพิษ 6. Waste-free city : การลดขยะและพัฒนาระบบการบริหารจัดการของเสียด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของสำนักงานกรุงปรากในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวต่างชาติในกรุงปรากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เช็กกำลังประสบภาวะขาดแคลนแรงงานและเร่งดึงดูดแรงงานที่มีศักยภาพจากต่างชาติจากประเทศในภูมิภาคยุโรปและเอเชียในสาขาวิศวกร นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นสูง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านภาษาและความล่าช้าในกระบวนการขอวีซ่าและการออกใบอนุญาตทำงานของทางการเช็ก จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดึงดูดให้ชาวต่างชาติที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาทำงานในกรุงปรากและในสาธารณรัฐเช็ก

 

ปราก : เมืองแห่งมรดกโลกและเมืองอัจฉริยะ

ศูนย์ข้อมูลฯ ยังมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกรุงปรากในฐานะเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่ทันสมัยและมีคุณภาพ ควบคู่กับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมตามข้อกำหนดของ UNESCO ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนาย Zdenek Hrib นายกเทศมนตรีกรุงปรากคนปัจจุบันที่เร่งแก้ไขปัญหาสภาพภูมิทัศน์ของกรุงปรากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดระเบียบอาคารที่อยู่อาศัย ร้านอาหาร ร้านค้า และร้านนวดในย่านเมืองเก่าให้ยังคงไว้ซึ่งความสวยงามตามแบบดั้งเดิม

 

รวมทั้งการจัดการขยะภายในพื้นที่ที่เกิดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวที่เช็กมากกว่า 21 ล้านคน (จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่กรุงปรากประมาณ 7 - 8 ล้านคน) โดยเยอรมนีเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด (ประมาณ 2 ล้านคน) สโลวะเกีย (735,000 คน) โปแลนด์ (620,000 คน) สหรัฐอเมริกา (545,000 คน) สหราชอาณาจักร (497,000 คน) สาธารณรัฐเกาหลี (416,000 คน) อิตาลี (410,000 คน) และออสเตรีย (300,000 คน) และมีนักท่องไทยเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวที่เช็กประมาณ 50,000 คน

 

 

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกรุงปรากเนื่องจากรายได้หลักของกรุงปรากมาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และภาคบริการต่าง ๆ แต่ก็นับเป็นช่วงเวลาและเป็นโอกาสให้กรุงปรากได้หันกลับมาให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (overtourism problem) ซึ่งประชากรในกรุงปรากเริ่มสะท้อนกระแสของความไม่พอใจจากสถานการณ์ดังกล่าวและมองว่า ตนไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ในเมืองอีกต่อไป

 

สำนักงานการท่องเที่ยวกรุงปราก (Prague City Tourism) จึงใช้โอกาสจากสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างและพัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในกรุงปราก โดยหันมาให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ที่มีความหลากหลาย และต้องการให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเขตอื่นของกรุงปราก อีกทั้งสำนักงานกรุงปรากยังได้จัดแพ็คเกจพิเศษในช่วงมิถุนายน – กันยายน 2563 ซึ่งเป็นฤดูร้อนและเป็น high season ของการท่องเที่ยวเช็ก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเช็กให้เดินทางไปท่องเที่ยวในย่านที่กำลังเติบโตในกรุงปราก เช่น Holesovice และ Karlin

 

ปราก : เมืองแห่งมรดกโลกและเมืองอัจฉริยะ

เนื่องจากที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเช็กส่วนใหญ่ไม่นิยมไปท่องเที่ยวที่เมืองอื่น และมีอัตราเฉลี่ยการพำนักอยู่ที่กรุงปรากถึง 2.4 วัน และมักจะท่องเที่ยวเฉพาะในย่านเมืองเก่า จึงส่งผลให้วิถีชีวิตของชาวบ้านในกรุงปรากย่านเมืองเก่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป้าหมายที่สำคัญของกรุงปรากคือ การวางยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยและประชาชนในพื้นที่กรุงปราก เพื่อให้กรุงปรากกลับมาเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวและพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มดีขึ้นและประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยชาวเมืองกรุงปรากต้องสามารถอาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุข ควบคู่กับการการพัฒนากรุงปรากให้เป็นเมืองอัจฉริยะซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองและนักท่องเที่ยวได้ควบคู่กันไปได้อย่างลงตัว

      

 

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทย ซึ่งปัจจุบันเมืองแห่งการท่องเที่ยวหลักของประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เชียงใหม่ ต่างก็ตกอยู่ในสถานะที่ไม่ต่างจากกรุงปรากที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกว่า 90% และปัจจุบันรัฐบาลเริ่มหันมาพูดถึงทิศทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 ว่า ควรให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยว high- end และ luxury tourism แทนการคำนึงถึงเพียงปริมาณของจำนวนนักท่องเที่ยว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายของสาธารณรัฐเช็กซึ่งทั้งไทยและเช็กสามารถที่จะร่วมมือกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าวระหว่างกันได้ต่อไป

ปราก : เมืองแห่งมรดกโลกและเมืองอัจฉริยะ

 

ความสำเร็จของไทยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนทำให้มาตรฐานด้านสาธารณสุขและการแพทย์ของไทยได้รับคำชื่นชมและยอมรับไปทั่วโลก ตลอดจนบุคคลสัญชาติไทยยังเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอียูที่ได้รับความเห็นชอบให้สามารถเดินทางเข้าอียูได้เป็นกลุ่มแรกภายหลังการคลายมาตรการล็อคดาวน์ นับเป็นจุดแข็งที่ไทยสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมมั่นและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในหมู่นักท่องเที่ยวกลุ่ม high-end และ luxury จากเช็กและประเทศสมาชอิกอียู ให้เลือกเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเป็นลำดับต้น เมื่อไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวในอนาคตอันใกล้นี้ และมาตรการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหลังจากที่ต้องเผชิญกับมรสุมและวิกฤติที่รุนแรงแสนสาหัสกว่า 3 เดือนในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19