แบรนด์อาหารดังมะกันสะเทือน แห่ปรับลุคใหม่สร้างเท่าเทียมสีผิว

04 ก.ค. 2563 | 11:04 น.

แบรนด์อาหารดังสหรัฐฯแห่ปรับเปลี่ยนโลโก้ ชื่อแบรนด์ใหม่ สร้างความเท่าเทียมสีผิว พร้อมพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทั้งบริจาค-ร่วมรณรงค์ต่อต้าน แนะสินค้าไทยปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแส

ไม่เพียงแต่โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ กระแสร้อนแรงของรณรงค์ "ชีวิตคนผิวดำก็มีความหมาย" (Black Lives Matter: BLM) ทั่วประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวแอฟริกันอเมริกันเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบไป ยังเจ้าของสินค้าอาหารชื่อดังเก่าแก่หลายแบรนด์ที่ใช้ภาพคนผิวดำและชนกลุ่มน้อยเป็นแบรนด์และโลโก้บนบรรจุภัณฑ์สินค้า ได้ขานรับต่อกระแสเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางสีผิว ได้ประกาศการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ให้กับสินค้า โดยจะออกแบบโลโก้ใหม่และเอาภาพคนบนบรรจุภัณฑ์ออกไป หรือ/และมีการเปลี่ยนชื่อแบรนด์

แบรนด์อาหารดังมะกันสะเทือน แห่ปรับลุคใหม่สร้างเท่าเทียมสีผิว

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา มีบทวิเคราะห์ 1. ปัจจุบัน ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายราย เช่น PepsiCo, Volkswagen, Dolce Gabana, Heineken ประสบปัญหาการประท้วงหรือการต่อต้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าที่นำออกเผยแพร่ เนื่องจากมีเนื้อหาสาระขัดแย้งหรือเหยียดต่อ พื้นฐานวัฒนธรรมชนชาติและชาติพันธุ์ของผู้บริโภคกลุ่มน้อย ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวต้องถอนการโฆษณาและประกาศการขอโทษ

2. ผลการสำรวจของบริษัท Morning Consult ในเรื่องปฏิกิริยาของผู้บริโภค จากกระแส Black Lives Matter ที่มีต่อแบรนด์สินค้าพบว่า ร้อยละ 66 ของผู้บริโภค กลุ่ม Gen-Z (มีจำนวนประมาณ 74 ล้านคนในสหรัฐฯ) เห็นว่าการรณรงค์เรื่อง Black Lives Matter (BLM) มีอิทธิพลต่อการซื้อแบรนด์สินค้า และร้อยละ 81 สนับสนุน BLM มากที่สุด ในขณะที่กลุ่ม Millennials กลุ่ม Gen-X และกลุ่ม Baby Boomers ให้การสนับสนุนร้อยละ 70 ร้อยละ 62 และร้อยละ 56 ตามลำดับ

3. ร้อยละ 76 ของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z เห็นว่าภาคธุรกิจ บริษัทต่าง ๆ มี บทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการเหยียดผิว และมีอำนาจต่อรองกับภาครัฐที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการชั้นนำรายสำคัญในสหรัฐฯ และจากต่างประเทศหลายราย อาทิ Walmart, Target, Amazon, Gap, Lululemon, H & M Group ได้ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่กิจการ โดยได้ร่วมบริจาคเงินให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่รณรงค์การต่อต้านการเหยียดผิว และเสริมสร้างความเท่าเทียมทางสีผิว

4. การวางแผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์โฆษณาสินค้าในตลาด สหรัฐฯ จะต้องคำนึงในเรื่อง Marketing Content เป็นสำคัญ การหลีกเลี่ยงการนำชาติพันธุ์มาประกอบ รวมไปถึงการใช้คำที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์ เช่น "Black" หรือ "White" หรือ "Asian" หรือภาพประกอบมาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์หรือโลโก้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างความเข้าใจและเพิ่มความต้องการบริโภคสินค้าของผู้บริโภค

5. ปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้า แบรนด์ไทยที่ส่งออกหรือจะส่งออกไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ควรจะทบทวนแบรนด์สินค้าของตนเองในเรื่องภาพโลโก้ และคำที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์ ว่าจะมีความขัดแย้งต่อกระแสในปัจจุบันหรือไม่ และหาทางปรับปรุงให้สอดคล้องและสนับสนุนกับกระแสความเท่าเทียมกัน