ผู้โดยสารเกาหลีใต้ บินในประเทศต่ำสุดรอบ 23 ปี

28 พ.ค. 2563 | 11:39 น.

ผู้โดยสารทางอากาศภายในประเทศเกาหลีใต้เดือนเมษายนต่ำสุดในรอบ 23 ปี จากผลกระทบโควิด-19 อีกด้านห้ามบินระหว่างประเทศกระทบค้าไทย-เกาหลีวูบ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี รายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์The Korea Times ว่าผู้โดยสารทางอากาศของประเทศเกาหลีใต้ เดือนเมษายน 2563 มีจำนวนลดลงต่ำสุดในรอบ 23 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 เนื่องจากข้อจำกัดต่างๆ ในการเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้ และอุปสงค์ที่มีน้อยลงท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19

ผู้โดยสารเกาหลีใต้ บินในประเทศต่ำสุดรอบ 23 ปี

ข้อมูลจาก Air Portal โดย KCA ระบุว่ามี จำนวนผู้โดยสารทางอากาศบนเส้นทางทั้งในและต่างประเทศลดลง 22% จาก 1.74 ล้านคนในเดือนมีนาคม 2563 เหลือ 1.35 ล้านคนในเดือนเมษายน 2563 และลดลง 87% จาก 10.14 ล้านคนเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2562 สายการบินท้องถิ่นในเกาหลีใต้ทำการระงับเที่ยวบินบนเส้นทางระหว่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จากหลายประเทศทยอยปิดน่านฟ้าหรือออกมาตรการต่างๆ สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้จำนวนเที่ยวบินที่ดำเนินการโดยสายการบินสัญชาติเกาหลีใต้ลดลง 73% จาก 59,294 เที่ยวบิน ในเดือนเมษายน 2562 เหลือเพียง 16,057 เที่ยวบิน ในเดือนเมษายน 2563

ทั้งนี้ Air Portal คาดการณ์ว่าอุปสงค์ต่อการเดินทางในเดือนพฤษภาคม 2563 จะฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากมีอุปสงค์ต่อการเดินทางทางอากาศภายในประเทศเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นหลังจากที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวดูเหมือนจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 1-17 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศในเกาหลีใต้พุ่งสูงขึ้น 55% เป็น 1.04 ล้านคน จาก 668,143 ในเดือนเมษายน 2563 นอกจากนี้ 2 บริษัทสายการบินที่ใหญ่ที่สุด ในเกาหลีใต้อย่าง Korean Air และ Asiana Airlines ต่างก็มีแผนที่จะกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบิน ภายในประเทศจำนวน 12 เที่ยวบินอีกครั้งในเดือน มิถุนายน 2563 เพื่อเตรียมตอบสนองต่ออุปสงค์ที่มีต่อการเดินทางท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลเกาหลีผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สำหรับการเดินทางเข้าประเทศ

ผู้โดยสารเกาหลีใต้ บินในประเทศต่ำสุดรอบ 23 ปี

สคต. ณ กรุงโซล ระบุว่า การจำกัดจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ และการปิดน่านฟ้าของประเทศต่าง ๆ รวมถึงการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่มีการผ่อนปรนมาตรการการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ (ต้องเข้ารับการ กักตัวในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนด 14 วัน) เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและการ ดำเนินธุรกิจของไทย-เกาหลีใต้ เนื่องจากไม่สามารถมีการหารือ เจรจา หรือร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้าใน ลักษณะ face to face ใด ๆ ได้ อีกทั้งในปัจจุบันราคาค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Cargo) มีราคาสูงขึ้น จากเดิมประมาณ 2-3 เท่า ส่งผลให้สินค้าโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหารสดมีราคาที่สูงขึ้นยากต่อการทำตลาดในเกาหลีใต้ (ปัจจุบันมีแค่ 2 สายการบินที่ทำการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างไทย-เกาหลีใต้ คือ Korea Air และ Asiana Air)

 จากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศข้างต้นทำให้ปัจจุบันควรมีการปรับกิจกรรมเจรจาการค้าโดยมุ่งเน้นการเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ เพื่อขยายโอกาสทางการค้า ให้กับผู้ส่งออกไทย อีกทั้งยังเป็นการรักษาฐานลูกค้าเดิมไม่ให้เกิดความเหินห่างระหว่างผู้นำเข้าเกาหลีใต้กับสินค้า/บริการจากประเทศไทย

ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยการค้าไทย-เกาหลีใต้ช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่า  131,333 ล้านบาท ลดลง 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 44,529 ล้านบาท ลดลง 10.9% และไทยนำเข้า 86,804 ล้านบาท ลดลง 9.8% ไทยขาดดุลการค้าเกาหลีใต้ 42,275 ล้านบาท

สินค้าส่งออก 5 อันดับแรกของไทยไปเกาหลีใต้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ,แผงวงจรไฟฟ้า,ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และน้ำตาลทราย ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรกของไทยจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์, เคมีภัณฑ์,แผงวงจรไฟฟ้า, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ