3ปัจจัยลบทุบปริมาณส่งออกน้ำตาลร่วงต่ำสุดในรอบ5ปี

25 พ.ค. 2563 | 10:00 น.

อ้อยและน้ำตาลยังน่าห่วงปัจจัยลบรุมเร้า กดทั้งราคาและปริมาณร่วงหนัก  หวั่นชาวไร่อ้อยหนีปลูกพืชอื่นหลังราคาไม่จูงใจ

 

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์การส่งออกน้ำตาลตลอดปี2563 ว่า น่าจะเป็นปีที่มีปริมาณการส่งออกน้ำตาลรวมลดลงโดยเหลือส่งออกไม่ถึง 6 ล้านตันต่อปี จากที่แต่ละปีไทยส่งส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดโลกได้ตั้งแต่ 7-11 ล้านตันต่อปี แต่เนื่องจากผลผลิตอ้อยและน้ำตาลปี 2562/63กำลังจะปิดหีบช่วงเดือนต.ค.นี้ มีผลผลิตอ้อยเพียง75 ล้านตันอ้อยลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2561-62 ที่มีปริมาณอ้อยทั่วประเทศรวมทั้งสิ้นถึง  131 ล้านตันอ้อย

 

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด  กล่าวอีกว่าทั้งปีฤดูการผลิต2562/63 จะสามารถผลิตน้ำตาลโดยรวมได้ราว 8.2 ล้านตัน  แบ่งเป็นบริโภคภายในประเทศราว 2.4-2.5ล้านตันน้ำตาล ที่เหลือที่เหลือเป็นปริมาณน้ำตาลส่งออกซึ่งมีไม่ถึง 6 ล้านตัน นับว่าเป็นการส่งออกต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จากที่ปกติไทยจะส่งออกน้ำตาลได้ตั้งแต่ 8-11ล้านตัน เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับที่ 2 ของโลกรองจากบราซิล

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำตาลร่วงลง  มาจาก3 ตัวแปรหลักคือ1.วิกฤติภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตอ้อยในบางประเทศลดลงรวมถึงประเทศไทยด้วยที่มีผลผลิตลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 2-3ปีก่อนหน้านี้มีผลผลิตอ้อยไม่ต่ำกว่า100 ล้านตันอ้อย  2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกลดลงหลังจากที่แต่ละประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ร้านอาหาร 3.เป็นเรื่องของราคาอ้อยและน้ำตาลที่ไม่จูงใจ  โดยเฉพาะราคาอ้อยในช่วงที่ผ่านมามีราคาไต่ไปไม่ถึง 1,000 บาทต่อตันอ้อย  ทำให้เกษตรกรชาวไร่หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีราคาดีกว่า

3ปัจจัยลบทุบปริมาณส่งออกน้ำตาลร่วงต่ำสุดในรอบ5ปี

 

อย่างไรก็ตามสำหรับปริมาณการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี2563 เทียบกับปี 2562 พบว่าหลายประเทศ ยังมีสถิติการนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 พบว่าภาพรวมการส่งออกดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  โดยเพิ่มขึ้น 15.93% หรือภาพรวมการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 2.568 ล้านตัน ปีที่ผ่านมา เพิ่มเป็นส่งออก 2.978 ล้านตันในช่วง4เดือนแรกปีนี้

 

โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาลไปอินโดนีเซีย ที่เพิ่มขึ้นถึง19.36% หรือเพิ่มขึ้นจากปี2562 ที่ในช่วง4เดือนแรกมีการส่งออก1.201  ล้านตัน เพิ่มเป็น 1.433ล้านตันในปี2563 ช่วงเดียวกัน  เช่นเดียวกับเวียดนามนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยสูงขึ้นมากโดยเพิ่มขึ้นถึง 417.72%   หรือเพิ่มขึ้นจาก 60,091ตัน เมื่อ 4 เดือนแรกปีที่แล้ว และเพิ่มเป็น 311,102 ตัน ในช่วงเดียวกันปีนี้(ดูตาราง) โดยสาเหตุที่บางประเทศมีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยสูงขึ้น เช่น อินโดนีเซีย มีราคาขายน้ำตาลภายในประเทศสูงขึ้น จึงต้องรีบนำเข้า ขณะที่บางประเทศนำเข้าเพิ่มขึ้นเพราะมีการบริโภคในประเทศสูงขึ้นรวมถึงเกรงว่าปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกปีนี้จะลดลงเพราะหลายประเทศเผชิญวิกฤติภัยแล้งรวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  อาจจะเป็นอุปสรรคในการซื้อ-ขายน้ำตาลได้

3ปัจจัยลบทุบปริมาณส่งออกน้ำตาลร่วงต่ำสุดในรอบ5ปี

“ดังนั้นจากสถิติการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ยังเป็นช่วงที่ได้รับอานิสงค์จากการซื้อขายน้ำตาลล่วงหน้า แต่หลังจากนี้ไปปริมาณน้ำตาลส่งออกจะน้อยลง  ทำให้ทั้งปีการส่งออกไม่ดีเท่ากับปีที่ผ่านๆมา ”