นับถอยหลังเจรจาเบร็กซิท ลุ้น 31 ธ.ค. “โนดีล”ผลดีไทย

24 พ.ค. 2563 | 07:23 น.

อัพเดตเบร็กซิท รัฐสภาอังกฤษเห็นชอบระบบวีซ่าใหม่ ทดแทนการเคลื่อนย้ายเสรีของพลเมืองอียูเข้ามาในอังกฤษ เผยเส้นตาย 31 ธ.ค.63 หากผลเจรจาโนดีล ผู้ดีเตรียมยกเลิกภาษีสินค้า 60% ลดภาระผู้บริโภค ผลดีส่งออกไทย

สื่ออังกฤษรายงานความคืบหน้าการดำเนินการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป(อียู)ของสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ( Brexit) ว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐสภาสหราชอาณาจักรได้มีมติเห็นชอบในการนำระบบการพิจารณาการขอวีซ่าแบบ Points-based system มาใช้ทดแทนการเคลื่อนย้ายโดยเสรีของพลเมืองจากอียูเข้ามายังสหราชอาณาจักร (Freedom of Movement) เมื่อสิ้นสุด Transition Period ในเดือนธันวาคม 2563 นี้ด้วยคะแนนเสียง 351 ต่อ 252

หลังจากนี้ สภาขุนนาง (House of Lord) จะมีการถกในมติดังกล่าวและมีการลงมติให้ความเห็นชอบก่อนที่จะออกเป็นกฎหมายต่อไป โดย นาง Priti Patel รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยของอังกฤษ เห็นว่าระบบ Points-based system ดังกล่าว เป็นระบบที่เข้มงวด เป็นธรรม และง่ายมากขึ้น "firmer, fairer and simpler" ซึ่งจะช่วยให้สหราชอาณาจักรสามารถควบคุม จำนวนคนเข้าเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการดึงดูดผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้จะมีระบบการขอวีซ่าแบบเร่งด่วน (Fast-track NHS visa) สำหรับเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ที่สนใจเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักรให้กับ National Health Service (NHS) ให้เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โดยเงื่อนไขในการให้คะแนน ได้แก่ ความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษ มีการเสนองานจากนายจ้างในสหราช อาณาจักร (Job Offer) และรายได้ต้องไม่ต่ำกว่า 25,600 ปอนด์ต่อปี

นับถอยหลังเจรจาเบร็กซิท  ลุ้น 31 ธ.ค. “โนดีล”ผลดีไทย

 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม นาง Elizabeth Truss รัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษได้ ประกาศแนวนโยบายการค้าระหว่างประเทศ (Trade Regime) ของสหราชอาณาจักร ในกรณีที่หากสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปไม่สามารถทำความตกลงทางการค้าได้(โนดีล) โดยแผนการดังกล่าวจะมีการยกเลิกภาษีสำหรับสินค้าที่มี การนำเข้ามายังประเทศถึงร้อยละ 60 ภายใต้ระบบ MFN (Most Favoured Nation) tariff regime กับประเทศ ต่างๆ ที่สหราชอาณาจักรมีความประสงค์ที่จะทำข้อตกลงทางการค้าด้วยเมื่อสิ้นสุด Transition Period ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก่อนที่จะมีการเจรจาความตกลงทางการใหม่กับประเทศดังกล่าวต่อไป หรือเรียกว่า UK Global Tariff

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงเก็บภาษีสำหรับสินค้าเกษตร เช่น ไก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ รวมถึง รถยนต์ (โดยมีอัตราภาษีร้อยละ 10) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการเกษตรและรถยนต์ของสหราชอาณาจักร โดยรัฐบาลเห็นว่าการยกเลิก อัตราภาษีนำเข้าดังกล่าว จะเป็นผลดีกับประชาชนในการจับจ่ายสินค้าที่ใช้ประจำวันได้ถูกลง โดยสินค้าที่จะมีการยกเลิกภาษี ได้แก่ เครื่องล้างจาน ตู้แช่แข็ง ผ้าอนามัย สี กระจก กรรไกร ผงฟู ยีส ผงโกโก้ เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีการยกเลิกภาษีสำหรับสินค้ากว่าร้อยรายการที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน เช่น เครื่อง ควบคุมความร้อนในบ้าน (thermostat) และหลอดไฟชนิด LED เป็นต้น ทั้งนี้จะมีการยกเลิกภาษีชั่วคราวสำหรับ สินค้าที่เกี่ยวกับการต่อสู้กับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ Personal Protective Equipment (PPE) อีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงลอนดอน ให้ความเห็นว่า ในกรณีที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปไม่สามารถตกลงทางการค้าให้เสร็จสิ้นได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น สหราชอาณาจักรจะต้องค้ากับสหภาพยุโรปภายใต้กฎระเบียบของ WTO โดยมีอัตราภาษีสินค้าที่สูง ซึ่งการที่สหราชอาณาจักรจะมีการยกเลิกภาษีสำหรับสินค้าที่มีการนำเข้ามายังประเทศถึงร้อยละ 60 ภายใต้ระบบ UK Global Tariff นั้น จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี ประเทศเหล่านี้จะไม่มีข้อผูกพันในการลดอัตราภาษีการนำเข้าให้กับสหราชอาณาจักร ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อประเทศที่สามที่มีการส่งสินค้าที่มีการลดอัตราภาษีมายังสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปมีกำหนดเจรจาความตกลงทางการค้าอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในประเด็น ได้แก่ ความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน ด้านการประมง และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการตรวจเช็คพรหมแดนไอร์แลนด์ซึ่งขณะนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรยังคงยืนยันที่จะไม่ขยาย ระยะเวลา Transition period ออกไปจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่จะถึงนี้