ผ่าเศรษฐกิจ “เช็ก”ช่วงโควิด-19 ระบาด

17 พ.ค. 2563 | 07:06 น.

นับตั้งแต่การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสาธารณรัฐเช็กคนแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2563 และรัฐบาลเช็กตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2563 ตลอดจนการออกคำสั่งปิดสถานบันเทิง ร้านอาหาร (อนุญาตเพียงการซื้อและนำกลับไปรับประทานที่บ้านและการจัดส่งอาหารเท่านั้น) สถานที่ออกกำลังกายในอาคาร ร้านนวดและสปา และร้านขายของทั่วไปยกเว้น ร้านขายยา ร้านขายของชำ ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านขายอาหารสัตว์ และร้านขายของใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ตลอดจนการปิดพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านและจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศของประชาชนเช็ก และการห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมหภาคของประเทศเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

 

จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เช็กมีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 8,352 คน เข้ารับการรักษาหาย 5,249 คน เสียชีวิต 293 คน โดยผู้ติดเชื้อในกรุงปรากมีจำนวนมากที่สุดอยู่ที่ 1,915 คน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันต่ำกว่า 100 และตัวเลข Reproductive Number อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 มาเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งเราจะไปดูผลกระทบทางเศรษฐกิจและมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในทางเศรษฐกิจของเช็กว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

ผ่าเศรษฐกิจ “เช็ก”ช่วงโควิด-19 ระบาด

 

สำหรับภาพรวมสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเช็กก่อนการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ก่อนการแพร่ระบาดมีการคาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเช็กในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 2.1% ลดลงจากปี 2561 และ 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.8% และ 2.4% ตามลำดับ อันเป็นผลจากสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของเช็ก โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทาง เศรษฐกิจยังคงอยู่ที่การบริโภคของภาคครัวเรือนและการลงทุนรายย่อย ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและส่งผลให้เกิดการปรับขึ้นค่าแรงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นภาระทางต้นทุนของอุตสาหกรรมการผลิต

 

ส่วนผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและต่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายหลังการตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลเช็กเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 และการใช้มาตรการจำกัดการเดินทางโดยเสรีของประชาชน การห้ามชาวเช็กเดินทางออกนอกประเทศและการห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ 00.00 น. ของวันที่ 16 มีนาคม 2563 (ตามเวลาท้องถิ่น) ธนาคารกลางเช็ก กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และกระทรวงการคลังเช็กได้คาดการณ์ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนี้

 

1. ธนาคารกลางเช็กคาดการณ์ว่า ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 – 2.3% จะต้องปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ -8% ในขณะที่กระทรวงการคลังเช็กคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ -5.6 ถึง – 11% และ IMF คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ – 6.5% ของ GDP ซึ่งนับว่าเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2552

 

2. การจำกัดการเดินทางของประชาชนโดยเสรีและการสั่งปิดร้านค้าปลีกส่งผลให้รัฐบาลเช็กต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เฉลี่ยวันละ 2 พันล้านคอรูน่า (ประมาณ 2.6 พันล้านบาท) โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ ผู้ค้าปลีก ธุรกิจการบินและการขนส่ง และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ

 

3. อุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัท Skoda Auto ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของเช็กและมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกของประเทศโดยในปี 2562 ผลิตรถยนต์ทั้งหมด 908,000 คัน และในเดือนมกราคม 2563 ผลิตรถยนต์ทั้งหมด 76,250 คัน เฉลี่ยประมาณ 2,500 คันต่อวันได้ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตรถยนต์ทั้ง 3 แห่งในเช็ก ได้แก่ โรงงานที่เมือง Mlada Boleslav, Central Bohemia ,โรงงานที่เมือง Kvasiny และโรงงานที่เมือง Vrchlabi (ผลิตชุดเกียร์และอะไหล่) ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เวลา 22.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น)

 

ผ่าเศรษฐกิจ “เช็ก”ช่วงโควิด-19 ระบาด
    

ในขณะเดียวกันบริษัท Toyota Peugeot Citroen Automobile (TPCA) ซึ่งมียอดขายรถยนต์ประมาณ 210,121 คันในปี 2562 บริษัทฮุนไดซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Nosovice ในภูมิภาค Moravia-Silesia ซึ่งเป็นโรงงานของบริษัทฮุนไดเพียงแห่งเดียวในอียูได้ตัดสินใจปิดโรงงานผลิตจนถึงปลายเดือนเมษายน 2563 ส่วนบริษัทยานยนต์อื่นได้ขยายการปิดโรงงานไปจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2563   

 

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เช็กคาดการณ์ว่า การตัดสินใจปิดโรงงานการผลิตของบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในเช็กจะทำให้ปริมาณการผลิตยานยนต์ของประเทศในปี 2563 ลดลงอย่างน้อย 10% จากปี 2562 ที่มีการผลิตยานยนต์ทั้งหมด 1.43 ล้านคัน และในแต่ละวันที่มีการหยุดการผลิตคาดว่าจะมีมูลค่าความสูญเสียอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านคอรูน่า (1.95 พันล้านบาท) และยอดการสั่งซื้อรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2563 ได้ลดลงจากวันละ 1,000 คันในปี 2562 เหลือวันละ 10 คัน

 

4. ภาคการท่องเที่ยวและร้านอาหาร  สำนักงานการท่องเที่ยวเช็ก (CzechTourism) เปิดเผยว่าในปี 2562 ธุรกิจการท่องเที่ยวมีอัตราส่วนถึง 3% ของ GDP มีรายได้สูงถึง 167,000 ล้านคอรูน่า (ประมาณ 217,100 ล้านบาท) ซึ่งก่อนการแพร่ระบาดของ โควิด-19 จำนวน 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปยังเช็กนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวที่เมือง Karlovy Vary และภูมิภาค South Moravia (นอกจากการเดินทางมายังกรุงปราก) แต่ในปัจจุบันภูมิภาคดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 และคาดว่าคงจะใช้เวลากว่า 6 – 8 เดือนภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ที่สถานการณ์การท่องเที่ยวจะเข้าสู่สภาวะปกติ

 

ผ่าเศรษฐกิจ “เช็ก”ช่วงโควิด-19 ระบาด

 

ธุรกิจร้านอาหารเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และคาดว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ผู้ประกอบการร้านอาหารได้สูญเสียรายเฉลี่ยแล้วรายละ 81% จากสถิติพบว่า เมื่อสิ้นปี 2562 เช็กมีผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและบริการ 21,592 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี เฉพาะในปี 2562 มีร้านอาหารใหม่เกิดขึ้นใหม่ 1,445 แห่ง และในปีเดียวกันมีร้านอาหารปิดตัวลง 621 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางเป็นทุนเดิมของธุรกิจร้านอาหารอย่างชัดเจน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการมีคำสั่งปิดร้านอาหารประเภทนั่งรับประทานภายในร้านตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน คาดว่าได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการถึง 11,000 ล้านคอรูน่า และคาดว่าภายหลังการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินผู้ประกอบการร้านอาหารประมาณ 50% จะไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีก

 

ด้านมาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเช็กเพื่อเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 รัฐบาลเช็กได้ออกกฎหมายเพื่อรองรับการใช้มาตรการกระตุ้นและเยียวยาทาง เศรษฐกิจเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการด้านการปรับโครงสร้างทางการคลัง การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคากลางถึง 2 ครั้งในระยะเวลาเพียง 1 เดือน การจ่ายเงินชดเชยค่าเลี้ยงดูบุตร การเลื่อนระยะเวลาชำระภาษี การเยียวยาผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และในขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องอีกเป็นจำนวนมาก เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี การค้ำประกันเงินกู้ การให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการประเภทต่าง ๆ เช่น ผู้ประกอบการในกรุงปราก ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ การให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระและผู้ค้าเดี่ยว การเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสุขภาพ มาตรการเยียวยาสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิง และกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและการแสดง เพื่อให้มาตรการกระตุ้นและเยียวยาทางเศรษฐกิจครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด

 

ผ่าเศรษฐกิจ “เช็ก”ช่วงโควิด-19 ระบาด

 

ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวรัฐบาลเช็กได้จัดสรรงบประมาณถึง 18% ของ GDP หรือคิดเป็นประมาณ 1.42 ล้านล้านคอรูน่า (1.85 ล้านล้านบาท) เพื่อใช้ในการดำเนินมาตรการเยียวยาต่อผลกระทบทาง เศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับสมาชิกในกลุ่มประเทศอียู และกระทรวงการคลังเช็กได้เสนอขอขยายโครงสร้างการขาดดุลงบประมาณ เป็น 4% ของ GDP ในปี 2564 และเสนอที่จะดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังต่อเนื่องลดลงปีละ 0.5% ไปจนถึงปี 2570

 

 ทั้งนี้ มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ว่า สถานะทางการเงินและการคลังของเช็กจะเข้าสู่สถานะก่อนการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อย่างเร็วที่สุดคือในต้นปี 2565 แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในภูมิภาคยุโรปยังคงไม่สามารถควบคุมได้ สถานะทางเศรษฐกิจของเช็กคงยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ และอาจต้องใช้เวลาถึง 8 ปีในการฟื้นตัวเพื่อกลับเข้าสู่สภาวะก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19


 

มาตรการกระตุ้นและเยียวยาทางเศรษฐกิจของเช็กมีความสอดคล้องกับมาตรการที่ประเทศสมาชิกอียูได้ประกาศใช้ และรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเร่งเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อชะลอและประวิงเวลาการเลิกจ้างแรงงานให้ได้นานที่สุด และในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในเช็กเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ กอปรกับรัฐบาลเช็กได้ร่นระยะเวลาในการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเร็วขึ้นประมาณ 2 สัปดาห์จึงมีแนวโน้มว่า เช็กจะเริ่มกลับเข้าสู่การดำเนินกิจกรรมตามชีวิตวิถีใหม่ (new normal) ได้เร็วกว่าประเทศอื่นในยุโรปอีกหลายประเทศ

 

ผ่าเศรษฐกิจ “เช็ก”ช่วงโควิด-19 ระบาด

 

นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเฝ้าระวังและติดตามผู้ติดเชื้อ ซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 ภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยที่เช็กเป็นประเทศในยุโรปที่เริ่มดำเนินนโยบายเข้มงวดและใช้มาตรการรุนแรงในการ lockdown ประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19 เป็นประเทศแรกๆ จึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ดังนั้นจากนี้ไปจะเป็นช่วงของการเร่งฟื้นฟูประเทศในด้านเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ประกอบการและคงต้องติดตามต่อไปว่า เช็กและไทยจะสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการปรับตัวและเร่งฟื้นฟูประเทศด้านเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ได้อย่างไร