พิษ "สงครามการค้า" ฉุดจีนลงทุนสหรัฐฯต่ำสุดรอบ 11 ปี

17 พ.ค. 2563 | 04:07 น.

สงครามการค้า ฉุดลงทุน FDI จีนในสหรัฐฯ ปี 2562 ต่ำสุดรอบ 11 ปี ไตรมาสแรกปีนี้ยังปรับตัวลดลง ผลพวงโควิด-19 คาดส่งผลการลงทุนระหว่างกันลดลงต่อเนื่อง ไทยลุ้นได้อานิสงส์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. หรือทูตพาณิชย์) ณ เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา อ้างข้อมูลรายงานทางเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ จาก The Wall Street Journal ว่า มูลค่าการลงทุนระหว่าง จีนและสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 และมีแนวโน้มหดตัวลดลงต่อเนื่องในอนาคตเนื่องจากปัจจัย ด้านความกดดันทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายการค้าระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศ รวมถึง บรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วโลกที่ชะลอตัวลงด้วย

 

โดยบริษัท Rhodium Group LLC. รายงานข้อมูลมูลค่าการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ พบว่า มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศของจีนในสหรัฐฯ ในปี 2562 มีมูลค่าหดตัวลงเหลือเพียง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 (ต่ำสุดรอบ 11 ปี)ในขณะที่มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในจีนก็ปรับตัว เหลือมูลค่าทั้งสิ้น 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2562 เช่นเดียวกัน โดยพบว่าแนวโน้มการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งสองมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวในปีก่อนหน้านี้

 

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มส่อเค้ามีปัญหามา ตั้งแต่ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศ ส่งผลทำให้ทั้งสองประเทศดำเนินนโยบายกีดกันการค้าการ ลงทุนระหว่างกัน เช่น การเข้าซื้อกิจการ (Cross-Border Acquisition) การลงทุนทางตรง (Direct Investment) และการร่วมทุนกิจการ (Venture Funding) เป็นต้น

 

โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศต่างเพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนจากประเทศฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น นอกจากนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ อีกทั้งยังส่งผลทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศที่รุนแรงขึ้นอีกด้วย ซึ่งปัจจัยทั้งสองน่าจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการลงทุนระหว่างประเทศจีนและสหรัฐฯ อย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การลงทุนระหว่างประเทศสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Early-Stage Business) โดยกลุ่มร่วมทุน (Venture Capitalists) ของทั้งสองประเทศยังปรับตัวลดลงในปีนี้อีกด้วย เนื่องจากมาตรการกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศของจีน รวมถึงมาตรการควบคุมผู้ประกอบการจีนในการลงทุนใน สหรัฐฯ นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจอเมริกันยังมีแนวโน้มที่จะเริ่มย้ายฐานการลงทุนออกจากจีนมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีนมีมูลค่าทั้งสิ้นเพียง 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

 

พิษ "สงครามการค้า" ฉุดจีนลงทุนสหรัฐฯต่ำสุดรอบ 11 ปี

ขณะที่ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2563 มูลค่าการลงทุนในกิจการร่วมทุนของจีนในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง เหลือเพียง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับมูลค่าการลงทุน 640 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2562 และ 2561 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการลงทุนของสหรัฐฯ ในจีนมีมูลค่าทั้งสิ้น 600 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ซึ่งคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อไตรมาสในปีที่ผ่านมาและเทียบกับมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยต่อไตรมาสสูงสุดทั้งสิ้น 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2561

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัจจัยด้านความตึงเครียด ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศจากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่สหรัฐฯ ได้กล่าวหาจีนเป็นต้นเหตุของการแพร่กระจายไปทั่วโลก อาจจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศของสิงคโปร์และสหรัฐฯ (Sino-U.S. Relationship) บรรลุข้อตกลงเร็วขึ้น โดยข้อตกลงดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ระยะแรก (Phase One) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ บริษัทอเมริกันที่ลงทุนในจีนเมื่อปีที่แล้ว ส่วนมากเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องจากโครงการก่อสร้างในลักษณะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Greenfield) ที่เริ่มต้นโครงการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่มีโครงการลงทุนใหม่เพิ่มขึ้นเลยในขณะนี้เช่น บริษัท Tesla Inc. ที่ลงทุนก่อสร้างโรงงานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เมืองเซี่ยงไฮ้ บริษัท Comcast Corp. ที่ลงทุนก่อสร้างสวนสนุก Universal Studio ที่เมือง ปักกิ่ง บริษัท Exxon Mobil Corp. ที่ลงทุนในโครงการปิโตรเคมีที่เมืองกวงโจว รวมถึงบริษัท Costco Wholesale Corp. ที่ได้ลงทุนขยายโกดังเก็บสินค้าและบริษัท General Motors Co. ที่ได้ร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในจีน อย่างไรก็ตาม พบว่า การลงทุนในการก่อตั้งธุรกิจใหม่ของผู้ประกอบการชาวอเมริกันในจีนมีมูลค่าการลงทุนลดลงจาก 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเหลือเพียง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

 

 ในขณะที่การลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) ซึ่งเคยมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 แต่ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงเหลือเพียง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ทั้งนี้มาตรการจำกัดการลงทุนระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความคลุมเครือด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองประเทศน่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต

 

สคต. ณ เมืองไมอามี ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลก เป็นมูลค่า 2.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมา ได้แก่ จีน เป็นมูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสิงคโปร์ เป็นมูลค่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ ซึ่งทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างเป็นประเทศมหาอำนาจในตลาดการค้าโลกมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีมูลค่าการลงทุนทางตรงระหว่างกันเป็นมูลค่าสูง อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มส่อเค้ามีปัญหามาตั้งแต่ปี 2559 ตั้งแต่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเข้าบริหารประเทศที่ต้องการให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการผลิตจากจีนอันเป็นสาเหตุสำคัญ ก่อให้เกิดการทำสงครามทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศด้วย

ทั้งนี้ แม้ต้นปีที่ผ่านมาทั้งสองประเทศจะได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase One) ร่วมกันแล้วก็ตาม แต่ด้วยปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่สำคัญของจีนได้รับผลกระทบต้องหยุดกิจการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งส่งผลต่อการชะลอตัวของการค้าการลงทุน อีกทั้ง ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ ยังได้กล่าวหา จีนว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดและอาจจะมีการพิจารณามาตรการทางการค้าการลงทุนต่าง ๆ เพื่อกดดันให้ รัฐบาลจีนรับผิดชอบต่อการแพร่ระบาดในอนาคต โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าวน่าจะยังคงส่งผลกระทบทำให้การลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศลดลงในอนาคตด้วย

 

นอกจากนี้จากปัจจัยกระทบหลายด้านยังส่งผลทำให้ผู้ประกอบการอเมริกันหลายรายเริ่มย้ายฐานการลงทุนหรือเริ่มพิจารณาย้ายการลงทุนจากจีนไปยังประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ฮ่องกง อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น โดยแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตของของผู้ประกอบการชาวอเมริกันออกจากจีนยังคงน่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนกระทั้งปลายปี 2565 เป็นอย่างน้อย หรือจนกระทั่งสหรัฐฯ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงทางด้านนโยบายการค้าร่วมกันได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

แนวโน้มการหดตัวลงของการลงทุนระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศผู้ผลิต อื่น ๆ ในเอเชียรวมถึงประเทศไทยในการดึงดูดเงินลงทุนจากประเทศทั้งสอง แม้ว่าในขณะนี้แนวโน้มการค้าการลงทุนระหว่างประเทศทั่วโลกดูเหมือนจะหยุดชะงักลง เนื่องจากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ก็ ตาม แต่คาดว่าในอนาคตอันใกล้เมื่อภาวะการแพร่ระบาดลดลง สภาวะเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งน่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนทั้งจากผู้ประกอบการจีนและสหรัฐฯ ที่ย้ายฐานกาลงทุนออกมาหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศที่มีศักยภาพในเอเชียมากขึ้นอย่างแน่นอน

 

โดยประเทศไทยเองถือว่าเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับทั้งจีนและสหรัฐฯ แนวโน้มดังกล่าวจึงถือว่าเป็นโอกาสสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากประเทศทั้งสองเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเพื่อสร้างความพร้อมในการรองรับการลงทุนที่ จะขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจยานยนต์ซึ่งไทยมีศักยภาพอย่างมากจากเดิมที่เป็นฐานการผลิตรถของ ญี่ปุ่นและเกาหลี รวมถึงธุรกิจใหม่ ๆ เช่น กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี และกลุ่มธุรกิจการบริการ เป็นต้น

 

 นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังควรที่จะพิจารณากลยุทธ์และนโยบายทางการค้าที่สำคัญเพื่อดึงดูดเงินลงทุน เหล่านั้นเข้าประเทศ ทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ภายในประเทศเพื่อรองรับการลงทุน รวมถึงการพิจารณาผลประโยชน์ต่าง ๆ แก่ธุรกิจร่วมทุนจากต่างชาติเช่น สิทธิพิเศษทางภาษี และการอำนวย ความสะดวกทางการค้าการลงทุนอื่น ๆ

 

นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคโดยเฉพาะสิงคโปร์ ฮ่องกง และเวียดนามได้นั้นยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายเนื่องจากการแข่งขันในตลาดที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากภาครัฐของ ไทยสามารถเร่งการเจรจาความตกลงทางการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยเน้นผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายใน ลักษณะ Win-Win ได้ในอนาคตอันใกล้ก็น่าจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการและกลุ่มธุรกิจทั้งในจีนและใน สหรัฐฯ พิจารณาขยายการลงทุนไปยังไทยมากขึ้นด้วย