อาลีบาบาดัน“คลังอาหารดิจิทัล” แค่คลิกส่งตรงจากฟาร์มถึงบ้าน

29 เม.ย. 2563 | 11:04 น.

Alibaba เริ่มดำเนินโครงการ “คลังธัญญหารดิจิทัล” ผนึก 100 ผู้ประกอบการเพาะปลูกธัญญาหารจาก 8 มณฑลในจีน ยกระดับภาคเกษตรในจีน แค่คลิกส่งตรงถึงบ้านทันที

 

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) ณ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน เผยว่า Alibaba Group ได้ประกาศเริ่มดำเนินโครงการ “คลังธัญญาหารดิจิทัล”อย่างเป็นทางการ โดยบริษัท Alibaba จะร่วมมือกับบริษัทเครือข่ายที่เป็นฐานการเพาะปลูกธัญญาหารสำคัญจำนวน 100 แห่ง กระจายใน 8 มณฑลของจีน (ไฮหลงเจียง/ จี๋หลิน/เหลียว-หนิง/เหอเป่ย/ซานตง/ซานซี/หูเป่ย/มองโกเลียใน) เพื่อประยุกต์ใช้ ระบบ “คลังธัญญาหารดิจิทัล” ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งนี้บริษัท Alibaba จะทำการส่งเสริมรูปแบบการจำหน่ายสินค้า “เชื่อมโยงฟาร์มเพาะปลูกกับโต๊ะอาหาร” กล่าวคือ เมื่อผู้บริโภคพิมพ์ Key word “คลังธัญญาหารดิจิทัล” ในแพลตฟอร์ม Taobao สามารถเข้าสู่เว็บไซด์ที่มีการรวบรวมสินค้าธัญญาหารจากพื้นที่ 100 แห่ง ดังกล่าวข้างต้นนั้น เมื่อผู้บริโภคทำการสั่งซื้อสินค้าแล้วสินค้าเหล่านี้ จะขนส่งโดยตรงจากพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นการลดต้นทุนของสินค้า

 

ปัจจุบันนี้ บริษัท Alibaba ได้คัดเลือกสินค้าธัญญาหารระดับพรีเมี่ยมกว่า 1,000 ชนิด เพื่อนำมาจำหน่ายในแพลตฟอร์ม“คลังธัญญาหารดิจิทัล” ของ Taobao โดยเฉพาะสินค้าธัญญาหารที่มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ข้าว แป้งสาลี และข้าวโพด การเล็งเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาการเกษตรเชิงดิจิทัลของโปรเจ็กต์ “คลังธัญญาหารดิจิทัล” หลายมณฑลจึงให้ความร่วมมือกับบริษัท Alibaba อย่างเต็มที่

Ms.Zhu Xia ผู้จัดการฝ่ายจำหน่ายอาหารสดของ Tmall Food แนะนำว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการ ประกอบด้วยเหตุผล 5 ข้อ ได้แก่   1.เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรให้มากขึ้น อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการสั่งซื้อ สินค้าจากผลิตโดยตรง   2.สร้างแบรนด์ให้กับสินค้าเกษตรระดับพรีเมี่ยม ขยายโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรที่มากด้วย คุณภาพสูงแต่ไม่เป็นที่รู้จักกัน   3.แก้ไขปัญหาการล้นตลาดของสินค้าเกษตรตามฤดูกาล   4.บ่มเพาะอุตสาหกรรมการเกษตรที่ทันสมัย ผลักดันการพัฒนาธุรกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร   5.ส่งเสริมนโยบายกำจัดความยากจนอย่างเจาะจง กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ยากจน และ เสริมสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรในท้องถิ่น  

 

ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดำเนินโครงการ “คลังธัญญาหาร” ของบริษัท Alibaba เป็นการ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการยกระดับความ ทันสมัยของการเกษตรจีน โดยเฉพาะในท่ามกลางบรรยากาศที่เศรษฐกิจดิจิทัลจีนกำลังแพร่หลายอย่างกว้างขวาง พร้อมกันนี้ การจำหน่ายสินค้าเกษตรได้พัฒนาเข้าไปสู่ยุคใหม่ด้วย เช่น การจำหน่ายสินค้าในรูปแบบ Live ซึ่งทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าเกษตรจีนทาง Online พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก  อย่างไรก็ตาม โครงการฯ นี้ นอกจากจะสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกร และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะได้รับสินค้าธัญญาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม