ปิดร่วง 4.16 ดอลล์ ห่วงน้ำมันล้นตลาด 

28 เม.ย. 2563 | 01:36 น.

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 25% เมื่อคืนนี้ (27 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด 

รวมทั้งรายงานที่ว่า คลังน้ำมันของสหรัฐกำลังกักเก็บน้ำมันใกล้เต็มความจุ ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิ่งลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 4.16 ดอลลาร์ หรือ 24.6% ปิดที่ 12.78 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.45 ดอลลาร์ หรือ 6.8% ปิดที่ 19.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบถูกกดดันจากการที่นักลงทุนวิตกว่า คลังเก็บน้ำมันของสหรัฐที่เมืองคูชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน WTI จะเต็มความจุในไม่ช้า โดยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 518.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย. ใกล้แตะระดับ 535 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในปี 2560
ทั้งนี้ คลังเก็บน้ำมันที่เมืองคูชิ่งมีการกักเก็บน้ำมันราว 70% ของความจุทั้งหมด ณ ช่วงกลางเดือนเม.ย.


นักวิเคราะห์ด้านพลังงานจากไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า กองทุนน้ำมันสหรัฐ (USO) ซึ่งเป็นกองทุน ETF สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เข้าซื้อสัญญาน้ำมันในตลาดฟิวเจอร์ ได้หันไปลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบที่มีอายุการส่งมอบที่ยาวนานกว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่สัญญาน้ำมันดิบเดือนพ.ค.ทรุดตัวลงสู่ระดับติดลบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ USO เปิดเผยว่า ทางกองทุนจะลดการถือครองสัญญาน้ำมันดิบในเดือนที่เฉพาะเจาะจง และขณะนี้ USO ถือครองสัญญาน้ำมันดิบเดือนก.ค.อยู่ประมาณ 30%

 

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังคงได้รับปัจจัยลบจากความกังวลเกี่ยวกับการทรุดตัวของอุปสงค์พลังงาน แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันก็ตาม

ด้านโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า การที่กลุ่มพลัส บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยเกินไป และยังไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบของอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน โกลด์แมน แซคส์คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังคงร่วงลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากสต็อกน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าโอเปกพลัสได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตเพื่อลดอุปทานน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม