คำต่อคำ "แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี"

10 เม.ย. 2563 | 12:50 น.

แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ชี้แจงความคืบหน้า มาตรการคุมระบาด-เยียวยาสถานการณ์โควิด ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย

วันนี้ 10 เมษายน 2563 เวลา 18.02 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในนามผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงการณ์ รายงานความคืบหน้าของมาตรการต่าง ๆ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มีมติไปแล้ว ระบุว่า 

สวัสดี พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ
                   

วันนี้ ผม ในฐานะนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ขอรายงานความคืบหน้าของมาตรการต่าง ๆ ที่ได้สั่งการ และรัฐบาลได้มีมติในแต่ละด้าน ตามลำดับ ดังนี้

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
 ประกอบด้วย มาตรการลดการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การรณรงค์เพื่อการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และส่งเสริมการทำงานที่บ้าน (Work from home)  รวมถึงกลไกในการทำงานที่ขันแข็งของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่เหมือน “มดงาน” ในการ เดลิเวอรี่ - หยิบยื่นสุขภาพดี ไปถึงหน้าประตูบ้าน ทุกครัวเรือน มุ่งเน้นผู้ที่กักตัวและเฝ้าระวังเชื้อ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ  นับเป็นระบบสาธารณสุขพื้นฐานที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ต้องขอขอบคุณ อสม. ที่เข้มแข็งทุกคนครับ
                   

สำหรับมาตรการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเราในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ  โดยรัฐบาลได้ดำเนินการจัดหาหน้ากากอนามัย N95 เพิ่มอีก 2 แสนกว่าชิ้น สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบัน สามารถอบความร้อนจากรังสี UV-C เพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้ 4 ครั้ง ปัจจุบันโควตาหน้ากากอนามัยสำหรับหมอและพยาบาลทั่วประเทศอยู่ที่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน  ส่วนหน้ากากผ้าสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ที่ไม่มีอาการป่วย ได้ให้แต่ละชุมชนผลิตเพื่อแจกจ่ายกันเองครบตามเป้าหมายแล้วกว่า 50 ล้านชิ้น ซึ่งถือว่าเพียงพอ สำหรับหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า N95 และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ เหล่านี้   ศบค. มีข้อมูลตั้งแต่โรงงานผลิต การจัดส่งโดยบริษัทไปรษณีย์ไทย ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ไปจนถึงการกระจายในพื้นที่  ประชาชนสามารถตรวจสอบทุกขั้นตอนได้
          

ส่วนการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ จากประเทศจีนและญี่ปุ่นที่ผ่านมา ดำเนินการไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 187,000 เม็ด และอยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติมอีก 200,000 เม็ด นอกจากนี้ การจัดเตรียมเตียงเพิ่มและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ในการรองรับดูแลผู้ป่วย จำนวน 98 แห่ง ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  หาห้อง ICU เพิ่มอีก 80 เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต  รวมทั้งความพร้อมของสถานที่กักตัวเฝ้าระวังของรัฐ ทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ซึ่งจะสามารถรองรับได้ประมาณ 20,000 คน โดยประเด็นที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก คือการป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องติดเชื้อเพิ่มเติมอีก     

คำต่อคำ "แถลงการณ์นายกรัฐมนตรี"

ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง
                   ประกอบด้วย การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด และการประกาศ Curfew ทั่วประเทศ ช่วงเวลา “4 ทุ่ม – ตี 4” เป็นเวลา 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ ศบค. ได้จัดกำลังพลกว่า 20,000 นาย ตั้งจุดตรวจรูปแบบต่าง ๆ มากกว่า 1,000 แห่ง  ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนดีขึ้น เพิ่มขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผู้ฝ่าฝืน มีการมั่วสุม ชุมนุมกันในยามวิกาล กว่า 6,500 ราย ในช่วงวันที่ 3 – 10 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ในแง่การจำกัดการแพร่ระบาดของโรคให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ใช้กฎหมายเพิ่มให้รุนแรงหรือประกาศเคอร์ฟิวที่มากขึ้น  บุคคลที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบเหล่านี้จะทำให้พ่อ แม่ พี่น้อง ประชาชน คนไทย ที่หาเช้ากินค่ำ และคนส่วนใหญ่ ต้องลำบากในการใช้ชีวิตในช่วงเวลานี้ ผมขอเตือนให้แก้ไขตัวเอง ศบค. ยังไม่มีแนวความคิดที่จะขยายเวลาการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลานี้ครับ    
 
ด้านการควบคุมสินค้า

                   สถิติการร้องเรียนการขายสินค้าราคาแพง การกักตุนสินค้าและการปฏิเสธการขายสินค้าโดยไม่มีเหตุผล มีเป็นจำนวนมาก โดยช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา สามารถจับกุมและดำเนินคดีการขายสินค้าเกินราคา ได้ 20 ราย การไม่ติดป้ายแสดงราคาสินค้า 36 ราย การจงใจทำให้ราคาสินค้าต่ำ หรือสูงเกินสมควร ทำให้เกิดการปั่นป่วน จำนวน 75 ราย เป็นต้น นอกจากนี้ นับตั้งแต่ 4 ก.พ. 63 ที่ประกาศให้หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือแอลกอฮอลล์เป็นสินค้าควบคุม  มีสถิติการกระทำความผิดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ โดยจับกุม 334 คดี  ยึดของกลางเป็นหน้ากาก กว่า 2,700,000 ชิ้น  แอลกอฮอลล์มากกว่า 330,000 ลิตร  ชุดตรวจ Covid-19  60,000 ชุด  และเครื่องวัดอุณหภูมิ กว่า 4,000 เครื่อง  คิดเป็นมูลค่ารวม มากกว่า 177 ล้านบาทครับ
 
ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
                   หลักการสำคัญ คือ วันนี้ต้องรอด วันข้างหน้าต้องกลับมาเข้มแข็ง  ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยา ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็น “ระยะเร่งด่วน” สำหรับประชาชน “ทุกกลุ่ม” ไปแล้ว  ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการ “เพิ่มเติม” ในระยะที่ 3 อีก เพื่อรักษา เยียวยา และเตรียมความพร้อมของประเทศในทุกมิติ  เป็นวงเงิน หนึ่งล้านเก้าแสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของ GDP  ประกอบด้วย
                   1. การออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยครอบคลุม 3 แผนงานหลัก  ได้แก่ (1) แผนงานด้านสาธารณสุข เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคและสนับสนุนการทำงานและงานวิจัย (2) แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยสองแผนงานนี้จะใช้งบประมาณรวมหกแสนล้านบาท  และ (3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การสร้างงานใหม่ การกระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว โดยแผนงานนี้ใช้งบประมาณสี่แสนล้านบาท
                   2. การออกพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญอย่างยิ่ง วงเงิน 5 แสนล้านบาท  โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการร่วมกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน โดยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ  เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และป้องกันมิให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้จำนวนหนึ่งล้านเจ็ดแสนราย จะช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้
                   3. การออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ที่อาจลุกลามส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้
                   4. การเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ โดยให้หน่วยงานปรับลดงบประมาณ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณนี้  โดยคณะรัฐมนตรีจะเร่งเสนอร่างกฎหมายโดยเร็ว และคาดว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2563
                   5. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ  การเพิ่มบุคลากรแพทย์ พยาบาล และข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ  กว่า 45,000 อัตรา  ทั้งในส่วนของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวนกว่า 38,000 อัตรา  และอัตราข้าราชการตั้งใหม่ สำหรับนักเรียนแพทย์ ปี 2563 จำนวนกว่า 7,000 อัตรา  โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทย โดยจะได้มีการพิจารณาดูแลด้วยการปรับเกลี่ยในระยะแรกจากอัตราที่ว่างอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้ดำเนินการและชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป
                   และ 6. การเพิ่มจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้า “ฟรี” จาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน  สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ทั่วประเทศ  เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์ 6.4 ล้านราย
                   นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ได้พิจารณากรณีประโยชน์ทดแทนการว่างงานของผู้ประกันตน โดยได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงแรงงานร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ  เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนจากการว่างงานใน 2 กรณี คือ กรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และเกิดเหตุสุดวิสัย  ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับ “ประโยชน์ทดแทนการว่างงาน” ที่ครอบคลุมการว่างงานจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในครั้งนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วย  เช่น การว่างงาน เนื่องจากการให้ปิดเมือง การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศ Curfew รวมทั้งการให้หยุดประกอบกิจการดังกล่าว ที่มิได้เป็นผลจากคำสั่งของทางราชการ “โดยตรง” นอกจากนี้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจาก “กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย
                    กรณีการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ หรืองบประมาณใดก็ตาม ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา          โควิด-19  ในการสาธารณสุข เยียวยา ดูแล ฟื้นฟูประชาชนทุกภาคส่วน จะมีคณะกรรมการพิจารณา ติดตาม กำกับดูแล คัดแยก เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น ผอ. ศบค. นำเข้า ครม. เพื่ออนุมัติก่อน จึงจะดำเนินการได้ เรื่องใดก็ตามที่หลุดออกมาเป็นข่าวตามสื่อโซเชียล หากไม่ผ่านมติ ครม. อนุมัติ ก็ถือว่าเป็นข่าวปลอม เชื่อถือไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

ด้านการต่างประเทศ
                   ที่ผ่านมา เน้นการกักกันผู้เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ 14 วัน  ปัจจุบัน ได้มีมาตรการชะลอการเดินทางกลับของชาวไทยในต่างประเทศ ออกไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน  เนื่องจากข้อเท็จจริงตามสถิติ ชี้ให้เห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น “ส่วนใหญ่” มาจากผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา เพื่อลดผลกระทบในระหว่างที่ต้องอาศัยในต่างแดน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ในรูปแบบ “เงินช่วยเหลือ” เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เป็นต้น
 และ ด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต
                   ปัจจุบัน ยังคงมี “ข่าวปลอม – ข่าวบิดเบือน” อย่างต่อเนื่อง  เฉพาะเมื่อวานนี้ มีคดีจำนวนทั้งสิ้น 26 คดี  จับกุม - แจ้งข้อหา จำนวน 10 คดี  มีผู้ต้องหา 13 ราย และออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก จำนวน 3 คดี จึงขอให้ทุกท่านอย่าส่งต่อข้อมูลที่มิน่าเชื่อถือ
พี่น้องประชาชนครับ
                   นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 100 วันแล้วที่เราได้ร่วมต่อสู้กันมาใน “สงครามโควิด 19” ในครั้งนี้ ด้วยการเตรียมความพร้อม และการเฝ้าระวังที่เข้มงวดตั้งแต่ต้น ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข และความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้เรามียอดผู้ป่วยในระดับที่ควบคุมได้ มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศชั้นนำ และมีความพร้อมรับมือในทุก ๆ ด้าน เป็นข้อพิสูจน์ว่า การดำเนินการของเรานั้นมีประสิทธิภาพ ประเทศต่าง ๆ ยกให้เป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการรับมือกับโควิด 19  ผมขอให้พวกเราทุกคนภูมิใจ เชื่อมั่นในมาตรการของรัฐ และมีวินัยอย่างเคร่งครัดในการปฏิบัติตาม  ผมขอให้สัญญาว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หน้าที่ของผม คือดูแลคนไทยทุกคนทั้งประเทศ ขอให้พวกเราสู้ไปด้วยกัน พวกเราคือทีมประเทศไทย หากเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ไม่มีศึกใดที่เราจะเอาชนะไม่ได้
          สำหรับบุคคลากรด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย พยาบาล เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ณ โรงพยาบาลและสถานีอนามัยต่าง ๆ พร้อมทั้งสมาชิก อสม. นับล้านคน ทั่วประเทศ ที่ทำงานอยู่ใน “ด่านหน้า” ของพวกเรา  รวมถึงเจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร และจิตอาสา “ทุกท่าน” ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือดูแล และให้บริการประชาชนในวิกฤตินี้ ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงต่อสุขภาพของท่านเอง  ผมขอย้ำทุกคนคือความหวัง คือ “ฮีโร่” ที่อยู่ในหัวใจของผม และหัวใจของคนไทยทั้ง 70 ล้านคน  ผมขอขอบคุณในความเสียสละของทุกท่าน

                สัปดาห์หน้าเป็นช่วงเทศกาลประเพณีสงกรานต์ แม้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ประกาศ “เลื่อน” วันหยุดสงกรานต์ แต่ให้ทำงานตามปกติ แล้วจะชดเชยภายหลัง แต่ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแนวทางการปฏิบัติที่สำคัญ ทั้งข้อห้ามและข้อแนะนำ ดังนี้  (1) งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ (2) งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา (3) งดเว้นการรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี และ (4) งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยเด็ดขาด
 
              อย่างไรก็ตาม เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาม และมีคุณค่าทางจิตใจ จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้ (1) สรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน (2) การแสดงความกตัญญู ขอพรต่อพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน โดยเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1 - 2 เมตร และให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัยด้วย  (3) ส่งเสริมให้แสดงความรักและความกตัญญู ต่อบุพการี – ผู้มีพระคุณ ที่อยู่ไกลกัน ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือสื่อออนไลน์

        และเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ ผมในนามของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ขออวยพรให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจร่วมต่อสู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน และขอให้สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อครอบครัว กันให้มากที่สุด เราจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ให้จงได้ “ประเทศไทยจะต้องชนะ” อย่างแน่นอน ครับ