ครม.ประกาศ สถานการณ์โควิด เป็น "วาระแห่งชาติ"

07 เม.ย. 2563 | 11:23 น.

นายกฯเผยครม.ประกาศสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิดเป็น "วาระแห่งชาติ" แจงบริหารงบและพรก.กู้วงเงินรวม 1.9ล้านล้าน ฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบ

วันที่ 7 เม.ย. 63  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า  ครม.มีมติ ประกาศสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 เป็นวาระแห่งชาติ ขอให้ประชาชนทุกคนรับข้อมูลมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีรับฟังข้อสังเกตทุกฝ่ายและพร้อมจะช่วยเหลือเยียวยาทั้งผู้ประกอบการและภาคแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 

 

ครม.ประกาศ สถานการณ์โควิด เป็น "วาระแห่งชาติ"

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมครม.ได้หารือ  3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นแรก การจัดทำพระราชบัญญัติการโอนงบประมาณปี 2563 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในระบบ โดยจะเป็นการเติมเต็มงบประมาณกลางให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้งบประมาณปี 2563 ได้มีการใช้จ่ายไปพลางก่อนพอสมควร ซึ่งคาดว่าเหลืออยู่จำนวน 80,000 - 100,000 ล้านบาท และมาเพิ่มเติมในส่วนของงบประมาณกลางที่ในปัจจุบันนั้นมีอยู่ 3,000 พันล้านบาท จากที่ตั้งงบประมาณกลางปี 2563 ไว้ 69,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีและให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ แต่ละวงเงินงบประมาณต่างมีหลายข้อกำหนดส่วนไหนที่สามารถโอนได้และไม่ได้ ซึ่งการจะปรับลดงบประมาณ 10% นั้น ไม่สามารถทำได้เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติงบประมาณ

 

ประเด็นสอง คือ พระราชกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นการบริหารจัดการเชิงการเงินการคลัง ไม่ใช่การกู้เงิน  โดยธนาคารแห่งประเทศไทยมีวงเงินประมาณ 900,000 ล้านบาท ไม่ใช่เงินกู้หรือเงินของรัฐบาล แต่เพิ่มอำนาจในการบริหารจัดการของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำการชี้แจงในลำดับต่อไป

ประเด็นที่สาม คือ พระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนแรกคือ การเยียวยา ดูแล และแผนงานด้านสาธารณสุขประมาณ 600,000 ล้านบาท กับส่วนที่สอง คือ แผนงานฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยประมาณ 400,000 ล้านบาท จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป ทั้งสองส่วนนี้สามารถปรับโอนกันได้ตามสมควร  ดังนั้น รัฐบาลจะมีเงินสองส่วนจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และเงินปรับโอนงบประมาณ หลังพ.ร.บ. งบประมาณ มีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายน ซึ่งตอนนี้จะรีบดำเนินการพระราชกำหนด ที่มีการจัดทำมาตรการต่างๆ เรียบร้อยแล้ว

 

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังพิจารณา เรื่องระบบอุทกภัยและการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของแม่น้ำยม ที่ได้มีการจัดทำแผนเพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม ในฤดูฝน รวมถึงการกักเก็บน้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำยมเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง

 

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า รัฐบาลยังยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนคนไทยทุกคน จึงขอความร่วมมือและขอให้เข้าใจในการทำงานของรัฐบาลที่มีคนจำนวนจากหลายหน่วยงานร่วมกันทำงาน เพื่อดูแลคนจำนวนมากเช่นเดียวกัน ทั้งผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการ State Quarantine จึงต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน  โดยเฉพาะสนามบินที่มีการจัดตั้งศูนย์ EOC ซึ่งอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและฝ่ายความมั่นคงด้วย รวมถึงได้สั่งให้ชะลอการเดินทางเข้าประเทศ  เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการส่งต่อ การตรวจคัดกรองโรค และเข้าสู่กระบวนการ Quarantine 


ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียังย้ำข้อสั่งการ มอบหมายให้ทุกกระทรวง หน่วยงาน เสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหา แต่มีความจำเป็นที่จะต้องคัดกรองเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งบประมาณของรัฐบาล และเป็นไปตามกฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด