แนวโน้มโควิดทำเศรษฐกิจ “ถดถอย” ยาว

07 เม.ย. 2563 | 10:38 น.

นักเศรษฐศาสตร์ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากจะถดถอยแรงในปีนี้ ยังเชื่อว่าการฟื้นตัวภายหลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป อาจจะไม่ใช่การฟื้นตัวแบบพุ่งเร็วและแรงเป็นกราฟรูปตัววี (V) อย่างที่เคยคาดคิดกันไว้

 

นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2557-2561)เปิดเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯเมื่อเร็วๆนี้ว่า โอกาสของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด19 เป็นกราฟรูปตัววี (V) ยังพอมีความเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันก็น่าห่วงว่าผลกระทบของวิกฤติครั้งนี้จะเลวร้ายกว่าที่คาดคิดกันเอาไว้

 

เจเน็ต เยลเลน

 

การแพร่ระบาดของโรคทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงัก และนั่นก็ทำให้ตลาดการเงินพากันคาดหวังว่า เมื่อวิกฤติผ่านพ้น หัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะกลับมาทำงานแบบติดเทอร์โบและทำให้การขยายตัวพุ่งแรงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาจนถึงจุดนี้ เริ่มมีความวิตกว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอาจหยั่งลึกเกินคาด และหมายความว่า เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแรงแค่ในระยะแรกๆ จากนั้นก็จะเริ่มสะดุดและที่สุดอาจฟื้นตัวแบบเฉื่อยหรือช้ากว่าที่คิด

กราฟการฟื้นตัวน่าจะเป็นตัว U มากกว่า V

เหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องจากมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจถูกตีกรอบจำกัด ผู้บริโภคเองก็มีกำลังซื้อลดลง ภาคธุรกิจขนาดเล็กที่ขาดสภาพคล่องหลายรายจ่อที่จะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย หลายบริษัทจำเป็นต้องปลดคนงาน อัตราคนตกงานเพิ่มสูงขึ้น จึงเชื่อว่ากำลังซื้อจะไม่ฟื้นตัวแรงแม้ว่ารัฐบาลจะควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้วก็ตาม ดังนั้น จึงมีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นที่เชื่อว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯหลังวิกฤติโควิด-19 น่าจะเป็นกราฟรูปตัวยู (U) หรือตัวแอล (L) เสียมากกว่า

 

แนวโน้มโควิดทำเศรษฐกิจ “ถดถอย” ยาว

 

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ภาวะทางเศรษฐกิจถือว่าแข็งแกร่ง ทั้งในตลาดแรงงาน ภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิต เป็นความแข็งแกร่งหลังจากที่เพิ่งผ่านพ้นการชะลอตัวแรงในปีที่ผ่านมา สัญญาณการฟื้นตัวปรากฏเด่นชัด อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายที่ยังประเมินค่าไม่ได้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธุรกิจเรือสำราญ และธุรกิจค้าปลีก  ซึ่งเป็น 3 ธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในเบื้องต้น

 

“ยิ่งโรคระบาดยืดเยื้อนานเท่าไหร่ ความเสียหายต่อโครงสร้างเศรษฐกิจก็จะขยายเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น และการฟื้นตัวก็จะแผ่วกำลังลงตามไปด้วย” นายกัส ฟอเชอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์บริษัทหลักทรัพย์ พีเอ็นซี ไฟแนนเชียล ให้ความเห็นและว่า ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีทุนหนาพอที่จะรองรับ เขาเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะดิ่งลงต่ำสุดในไตรมาสที่สอง และเริ่มทรงตัวได้ในไตรมาสสาม จากนั้นสิ้นปีก็จะเริ่มแข็งแรงขึ้น

 

เฟดคาดเศรษฐกิจมะกันถดถอยลึก

อย่างไรก็ตาม รายงานรายไตรมาสของเฟด ประมาณการว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบจากโควิด-19 จะรุนแรงจนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวถึง 25 % ภายในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ แต่ก็ยังคาดเหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในช่วงปลายปี และทำให้ตลอดทั้งปี 2563 นี้ เศรษฐกิจจะหดตัวที่อัตราเพียง 8.3% แต่แม้หากเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะถดถอยรุนแรงอยู่ดี ซึ่งในรายงานของเฟดระบุไว้ว่า เศรษฐกิจในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร จะขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในสหรัฐฯและในระดับโลก

 

แนวโน้มโควิดทำเศรษฐกิจ “ถดถอย” ยาว

 

จากการสำรวจของ Focus Economics ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงสัปดาห์นี้ พบว่า นักเศรษฐศาสตร์จาก 62 สถาบันหรือองค์กรทั่วโลกมีความเชื่อในขณะนี้ว่า ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลจากโควิด-19 นั้นจะยืดเยื้อยาวนาน  มีเพียง 28% ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบคำถามการสำรวจที่มองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็วและแรงเป็นกราฟรูปตัววี (V) ขณะที่ 58% มองว่า การฟื้นตัวคงเป็นรูปตัวยู (U) มากกว่า นั่นหมายถึงภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะใช้เวลายาวนานมากขึ้นก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัว

 

แนวโน้มโควิดทำเศรษฐกิจ “ถดถอย” ยาว

 

ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเคยเผชิญมาในอดีตนั้น หากไม่นับรวมช่วงเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปัจจัยหลังจากนั้นมา มักจะเกิดขึ้นจากภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาในตลาดการเงินและสินเชื่อ หนี้และการผิดนัดชำระหนี้ แต่ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจสหรัฐฯและโลกในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากเดิม ผลกระทบของโรคระบาดระดับโลกที่มีต่อเศรษฐกิจเคยมีมาแล้วเมื่อครั้งโรคซาร์สในช่วงกลาง-ปลายปี 2546  แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในครั้งนั้น ก็ยังน้อยกว่ายอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19  ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้หลายเท่า เฉพาะผู้ติดเชื้อโรคซาร์สในเวลานั้น มีเพียงกว่า 8,000 คน แต่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ทะลุ 1 ล้านคนแล้ว