เอกชนทั่วโลกแปลงร่างเป็น “ฮีโร่” ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

26 มี.ค. 2563 | 08:19 น.

 

“สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เป็นเรื่องจริงมาทุกยุคทุกสมัย ท่ามกลางสภาวะวิกฤติที่นำความยากลำบากมาสู่ประเทศชาติ ความเป็นผู้นำพิสูจน์กันได้ด้วยการเป็นผู้กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

 

และท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ที่กำลังลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยอดผู้เสียชีวิตปลิดปลิวเป็นใบไม้ร่วงแม้ในประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอิตาลี  มาตรการเร่งรัดฉุกเฉินถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาด การปิดเมือง-ปิดประเทศ ควบคุมการเดินทาง ห้ามทำกิจกรรมที่มีการชุมนุมของคนจำนวนมาก การกักตัวเองอยู่ในเคหะสถานบ้านเรือน ส่งผลกระทบรุนแรงทั้งต่อภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป แต่เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม ทุก ๆ ภาคส่วนของสังคมก็มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความร่วมมือ และพยายามทุกวิถีทางที่จะป้องกันตนเองและผู้อื่นให้ปลอดภัยจากเชื้อที่กำลังแพร่ระบาดอย่างไม่ปรานี  

เอกชนทั่วโลกแปลงร่างเป็น “ฮีโร่” ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

เป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดีที่แม้ในท่ามกลางวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่นี้ เรายังได้เห็นความเสียสละ และความคิดริเริ่มจากภาคธุรกิจเอกชนในหลายประเทศที่ต้องการมีส่วนร่วมในการบรรเทาทุกข์ และหยิบยื่นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่กำลังขาดแคลนอย่างหนักให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน “วีรบุรุษ” หรือ “ฮีโร่” ภาคเอกชนท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่เรารวบรวมมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะช่วยสร้างกำลังใจ และอย่าลืมว่า ทุกคนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สามารถเป็น “ฮีโร่โควิดฯ” ได้ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม

 

บริษัทรถยนต์หันมาผลิตเครื่องช่วยหายใจ

บริษัท ฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ กำลังจับมือกับ บริษัท เจนเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) และ 3M เตรียมปรับสายการผลิตมาช่วยกันผลิตอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจและเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งกำลังขาดแคลนเนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ฟอร์ดประกาศเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าจะร่วมโครงการฉุกเฉินที่มีชื่อรหัสว่า “โปรเจคท์ อพอลโล” (Project Apollo) เพื่อผลิตอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าวออกมารับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนในเวลานี้ ฟอร์ดจะดัดแปลงโรงงานผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งของบริษัทเพื่อใช้ในโครงการ แม้ว่าการเตรียมสายการผลิตจะใช้เวลาเป็นเดือนแต่ในเบื้องต้นฟอร์ดคาดว่าจะสามารถผลิตเครื่องช่วยหายใจจำนวนนับแสนชิ้นภายในต้นเดือนมิถุนายน ส่วนโครงการที่ทำกับ 3M จะเป็นการผลิตอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจที่สามารถฟอกอากาศได้ในตัว โดยฟอร์ดจะดัดแปลงพัดลมในระบบระบายความร้อนของรถปิกอัพรุ่น F-150 มาใช้เพื่อการนี้ บริษัทยังจับมือกับสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ออกแบบและผลิตหน้ากากที่ปกป้องได้ทั้งใบหน้า เมื่อใช้ควบคู่กับหน้ากากอนามัยกันฝุ่นรุ่น N95 ก็จะป้องกันได้ดียิ่งขึ้น  นอกจากฟอร์ด ก็ยังมี จีเอ็ม (เจนเนอรัล มอเตอร์ส) ที่ประกาศจับมือกับ บริษัท เวนเทค ผู้ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะดัดแปลงโรงงานของจีเอ็มที่มลรัฐอินเดียนา ผลิตอุปกรณ์ระบายอากาศ ขณะที่ เฟี้ยต ไครสเลอร์ฯ เตรียมเปิดสายการผลิตหน้ากากอนามัยในจีน กำลังการผลิตกว่า 1 ล้านชิ้นต่อเดือน  

เอกชนทั่วโลกแปลงร่างเป็น “ฮีโร่” ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

เอกชนทั่วโลกแปลงร่างเป็น “ฮีโร่” ร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19

ค้าปลีกช่วยได้มากกว่าที่คิด

ขณะที่ผู้คนกักตัวอยู่กับบ้านตามนโยบายของภาครัฐ ประกอบกับมาตรการปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านรวงต่าง ๆ เป็นการชั่วคราวในหลายประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีแนวคิดปรับใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ร้างราลูกค้า ให้กลายมาเป็นสถานที่กักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการของผู้ติดเชื้อหรือแม้แต่เป็นโรงพยาบาลสนาม ตัวอย่างเช่น บริษัท วอชิงตัน ไพรม กรุ๊ป (WPG) ที่ประกาศจะใช้พื้นที่บางส่วนของศูนย์การค้าที่มีอยู่หลายแห่งในเครือให้เป็นศูนย์เก็บและกระจายอุปกรณ์การแพทย์ฉุกเฉิน หรือใช้เป็นจุดตรวจเชื้อและคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 หรือใช้เป็นศูนย์แจกอาหารสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ WPG ยกตัวอย่างพื้นที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ถูกดัดแปลงเป็นศูนย์แจกอาหารเช้าและกลางวันฟรีให้แก่เด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 18 ปีลงมา นอกจากนี้ ยังจับมือกับร้านอาหารที่เป็นผู้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้า ทำอาหารแจกฟรีแก่เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล 

Senior Hour ช่วงเวลาที่ผู้ค้าปลีกในสหรัฐฯจัดพิเศษให้ผู้สูงวัย

ผู้ค้าปลีกหลายรายของสหรัฐฯ รวมทั้ง วอลมาร์ท ทาร์เก็ท และ ดอลลาร์ เจเนอรัล ยังสนองนโยบายของภาครัฐที่ขอให้ช่วยกันดูแลผู้ที่อ่อนแอและอาจได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสมากที่สุด นั่นก็คือผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จึงได้จัดชั่วโมงพิเศษเพื่อการช้อปปิ้งของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ  หรือ Senior Hour เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีภูมิต้านทานน้อย ไม่ต้องอยู่ในสภาวะแออัดยัดเยียด ส่วนใหญ่ Senior Hour คือเวลาก่อนห้างเปิด 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกบางราย เช่น วอลมาร์ทและอะเมซอน ยังจ้างแรงงานชั่วคราวเพิ่มขึ้นนับแสนอัตราเพื่อตอบสนองความต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งขึ้นมากโดยเฉพาะการสั่งซื้อออนไลน์ เนื่องจากผู้คนต้องการกักตุนสินค้าไว้ใช้ในยามจำเป็นและไม่ต้องการออกจากบ้านไปไหน ความเคลื่อนไหวในแง่มุมนี้ช่วยบรรเทาปัญหาคนตกงานที่เกิดจากการปิดสถานบริการหลายแห่งตามมาตรการปิดเมือง (ล๊อคดาวน์) สู้ไวรัส   

 

โรงแรมบางแห่งในเมืองชิคาโกยังเข้าร่วมโครงการของหน่วยงานภาครัฐ เปิดพื้นที่ห้องพัก(ซึ่งขณะนี้ลูกค้าโรงแรมแทบไม่มีอยู่แล้ว) ปรับให้เป็นสถานกักกันตัวเพื่อเฝ้าดูอาการของผู้ที่สงสัยว่าตัวเองอาจติดเชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลให้สามารถดูแลผู้ป่วยอาการหนักกว่าได้มากขึ้น นอกจากนี้ ที่นครนิวยอร์คซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ มีการดัดแปลง ศูนย์การประชุมจาวิตส์ (Javits Convention Center) ให้เป็นโรงพยาบาลภาคสนาม มีการจัดเตรียมติดตั้งเตียงผู้ป่วย 2,000 เตียงและอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะเปิดรับผู้ป่วยได้ภายใน 7-10 วันหลังจากนี้

ศูนย์การประชุมจาวิตส์ (Javits Convention Center)ในนิวยอร์ค

กองหนุนให้กำลังใจคนทำงาน

ที่ประเทศฝรั่งเศส บริษัท ทางรถไฟแห่งชาติ (SNCF) ประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง TGV และรถไฟระหว่างเมืองได้ฟรี  ส่วน บริษัทโททาล (Total) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์เติมน้ำมันได้ฟรี โดยจะแจกบัตรเติมน้ำมันที่โรงพยาบาลต่าง ๆ มูลค่ารวมประมาณ 50 ล้านยูโร นอกจากนี้ ร้านอาหารหลายแห่งที่จำเป็นต้องปิดบริการตามมาตรการล๊อคดาวน์ของรัฐบาลฝรั่งเศส ได้นำวัตถุดิบในการปรุงอาหารทั้งของสดของแห้ง มาปรุงอาหารแจกฟรีให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่อุทิศตัวเองดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19

บริษัทโททาล (Total) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของฝรั่งเศส ประกาศให้บุคลากรทางการแพทย์เติมน้ำมันได้ฟรี

สินค้าแบรนด์หรูใน เครือแอลวีเอ็มเอช ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ คริสเตียน ดิออร์ เกอร์แลง และจีวองชี เป็นฮีโร่อีกรายที่ดัดแปลงโรงงานน้ำหอมและเครื่องสำอาง มาผลิตเจลล้างมือฆ่าเชื้อ แจกให้แก่หน่วยงานราชการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เช่นเดียวกับโรงงานผลิตเครื่องสำอางของ “โคตี้” และโรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสหรัฐฯ ที่หันมาผลิตเจลล้างมือแจกฟรีเช่นกัน