ลุ้น‘วัคซีน’สกัดไวรัสโควิด

26 มี.ค. 2563 | 03:30 น.

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 หลายประเทศที่มีการแพร่ระบาดก็ได้คิดยารักษา หรือวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

ดร.มาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า WHO กำลังร่วมงานกับคณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา ที่แตกต่างกันอย่างน้อย 20 ชนิด โดยบาง ชนิดมีการทดลองทางคลินิกแล้วโดยใช้เวลาน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เพียง 60 วัน

 “การเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนนี้เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่งในแง่ของสิ่งที่ WHO สามารถทำได้ โดยต่อยอดจากงานที่เริ่มต้นด้วยโรคซาร์ส และ โรคเมอร์ส อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องใช้เวลาอีกถึง 18 เดือน จึงจะมีวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เพื่อใช้กับประชาชน”

 

ลุ้น‘วัคซีน’สกัดไวรัสโควิด

 

ขณะเดียวกันในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม อาสาสมัคร 4 คนแรกได้เข้ารับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีชื่อว่า “mRNA 1273” วัคซีนดังกล่าวผลิตโดยบริษัท โมเดอร์นาฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ร่วมกับสถาบันภูมิ แพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ


 

การทดสอบดังกล่าวจะให้วัคซีนแก่อาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุระหว่าง 18-55 ปี รวม 45 คน จำนวน 2 โดส และจะติดตามผลในอาสาสมัครในระยะเวลา 12 เดือน หากได้ผลดี คาดว่าอาจใช้เวลา 12-18 เดือน จึงจะผลิตวัคซีนออกมาใช้จริงได้

อีกด้านหนึ่ง นับเป็นข่าวดี เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยแพทย์ของกองทัพจีน ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนก็มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยบริษัท โฟซัน ฟาร์มาฯ (Fosun Pharma) เอกชนของจีน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไบโอเอ็นเทคฯ (BioNTech) จากเยอรมนี จะร่วมกันพัฒนาและจำหน่ายวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน

ส่วนยารักษาไวรัสโควิด- 19 นั้น นายจาง ซินหมิน ผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจีน ระบุว่า ตัวยา “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานทางคลินิกในญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 ใช้ได้ดีในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และไม่มีผลข้างเคียงในการทดลอง

จีนจึงอนุมัติการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ทดลองกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 80 คน ที่โรงพยาบาล ในเมืองเสินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง มีผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ 35 คน และผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ 45 คน พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีผลการตรวจหาเชื้อ เป็นลบในระยะเวลาอันสั้นกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มควบคุม

สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ หรือในชื่อทางการค้าว่า “อาวิแกน” (Avigan) คิดค้นพัฒนาโดยบริษัทยาของญี่ปุ่น (บริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะ เคมิคัลฯ) มาตั้ง แต่ปี 2557

นอกจากนั้นจีนยังได้ผลักดันการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซลล์) ตับเทียม และการขจัดสารพิษในเลือดหรือการฟอกเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงด้วย

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 22-28 มีนาคม 2563