ไวรัสทุบศก.จีน เสี่ยงสูญ 6 ล้านล้านใน 2 เดือน

26 ก.พ. 2563 | 09:50 น.

 

ไวรัสโคโรนาอาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจให้กับจีนได้ถึง 1.38 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 196,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 6.07 ล้านล้านบาท) ภายในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สาเหตุหลักมาจากการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ

ไวรัสทุบศก.จีน เสี่ยงสูญ 6 ล้านล้านใน 2 เดือน

ดร.จู หมิน อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระหว่างปี 2554-2559 ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าสถาบันวิจัยการเงินการคลังแห่งชาติ ในกรุงปักกิ่ง ประมาณการว่า การเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลงจะทำให้เกิดความสูญเสียในภาพรวมสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ประมาณ 900,000 ล้านหยวน หรือราว 128,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 3.96 ล้านล้านบาท) ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยด้านอาหารและเครื่องดื่มของผู้บริโภคจีน มีแนวโน้มลดลงประมาณ 420,000 ล้านหยวน หรือราว 59,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 1.85 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น

 

เป็นที่สังเกตว่า มูลค่าประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.38 ล้านล้านหยวนนั้น เทียบเท่ากับ 3.3% ของยอดขายรวมในธุรกิจค้าปลีกของจีนในปี 2562 “การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกจะส่งผลทำให้ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนหดหายไปได้ 3 หรือ 4% เราจำเป็นต้องฟื้นตัวกลับมาในอัตราที่แรงพอ และนั่นหมายความว่าต้องพยายามมากขึ้นเป็น 10 เท่า”

ไวรัสทุบศก.จีน เสี่ยงสูญ 6 ล้านล้านใน 2 เดือน

 

การประเมินสถานการณ์ของดร.จู หมิน ยังไม่รวมข้อมูลยอดขายรถยนต์ในช่วงเดือนมกราคมของจีนที่ปรับลดลงถึง 20.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 นับเป็นการลดลงรายเดือนในอัตราสูงที่สุดในรอบ 15 ปี (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีน) และหากรวมยอดขายในเดือนกุมภาพันธ์จะพบว่า ยอดขายรถยนต์ 2 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงในอัตราถึง 92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการปิดโชว์รูมยาวนานกว่าปกติ นักวิเคราะห์เชื่อว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะมีผลให้ยอดขายรถยนต์ในจีนตลอดทั้งปีนี้ หดหายไปได้ถึง 1 ล้านคัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 5% ของยอดขายรวมทั้งปี

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการด้านการศึกษาและด้านบันเทิง จะสามารถชดเชยรายได้บางส่วนที่สูญเสียไป นักวิเคราะห์กล่าวว่า อุปสงค์ภายในประเทศเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจจีน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบๆ 60% ของจีดีพี แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและการติดเชื้อของผู้ป่วยที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นในหลายพื้นที่ของจีน ยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้า หรือโรงภาพยนตร์เปิดทำการ 

 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์จีนคาดการณ์ว่า จุดตกต่ำที่สุดจะเป็นช่วงสิ้นเดือนมีนาคม จากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

 

หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27 - 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ไวรัสทุบศก.จีน เสี่ยงสูญ 6 ล้านล้านใน 2 เดือน