“มหาธีร์” หัก “อันวาร์” ปมหักหลัง สู่การไขก๊อก

24 ก.พ. 2563 | 07:59 น.

หลังจากสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย วัย 94 ปี ได้ส่งหนังสือกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งกับสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ ชาห์ กษัตริย์แห่งมาเลเซียแล้ว เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 24 ก.พ. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากเพิ่งกลับเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอีกครั้งในปี 2561

การลาออกของนายมหาธีร์ วัย 94 ปี อย่างกะทันหัน ทำให้ชะตากรรมของพรรคร่วมรัฐบาลในมาเลเซียเกิดความสับสนหลังจากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิด แกนนำพรรคการเมืองหลายคนของมาเลเซียได้มีการ “หารือลับ” ที่สร้างความประหลาดใจ กับแกนนำพรรคฝ่ายค้าน ที่โรงแรมปาตาลิง จายา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ท่ามกลางกระแสข่าวว่าการหารือครั้งนี้ เป็นการหารือลับเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ โดยไม่มีนายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งก่อนหน้าถูกวางตัวว่าจะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายมหาธีร์

“มหาธีร์” หัก “อันวาร์” ปมหักหลัง สู่การไขก๊อก

อันวาร์ อิบราฮิม

 

ก่อนหน้านี้ นายอันวาร์ อิบราฮิม วัย 72 ปี อดีตผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญของมาเลเซีย ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ เผยในพิธีละหมาดที่บ้านพักว่า อดีตพันธมิตรในพรรคเบอร์ซาตูของนายมหาธีร์ และ “ผู้ทรยศ” กลุ่มเล็ก ๆ ในพรรคยุติธรรมประชาชน (PKRร์) ของเขากำลังหาทางสกัดไม่ให้เขาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากผู้นำวัย 94 ปี ตามที่ตกลงกันไว้

“ขณะนี้กำลังรอข้อมูลอยู่ แต่เขารู้ว่ามีความพยายามจะล้มรัฐบาลผสม "พันธมิตรแห่งความหวัง" (PH) ซึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน แล้วตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมาแทน” นายอันวาร์ ระบุ

การเปิดโปงครั้งนี้ของนายอันวาร์มีขึ้นหลังจากสมาชิกอาวุโสของพรรคเบอร์ซาตูและกลุ่มในพรรคพีเคอาร์ที่เป็นสมาชิกรัฐบาลผสมนัดพบกับพรรคอัมโน พรรคปาส พรรคเอ็มซีเอของคนเชื้อสายจีน และพรรคเอ็มไอซีของคนเชื้อสายอินเดียที่โรงแรมเชอราตันในเมืองปาตาลิงจายาเมื่อวันอาทิตย์ และช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวแพร่สะพัดมาว่า พรรคอัมโนและพรรคปาสเตรียมจับมือกับพรรคเบอร์ซาตูและกลุ่มในพรรคพีเคอาร์ตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ โดยต้องการให้นายมหาธีร์ดำรงตำแหน่งต่อจนครบวาระ 5 ปี มากกว่าส่งมอบตำแหน่งให้นายอันวาร์

โดยเรื่องนี้หนังสือพิมพ์เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ของฮ่องกง อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลผสมพีเอชเผย ว่า รัฐบาลชุดนี้เสี่ยงล่ม เนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนการนี้ต้องการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปฏิรูปสถาบัน และฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของการสืบทอดอำนาจที่อาจสร้างความแตกแยก

ด้าน นายชาด ซาลีม ฟารูกี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ซึ่งเชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญมาเลเซีย ระบุว่า หากรัฐบาลผสมล่ม ไม่ว่าโดยสมัครใจหรือถูกบังคับทางการเมือง ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องลาออก ซึ่งจะทำให้คณะรัฐมนตรีถูกยุบโดยอัตโนมัติ และนายกฯที่ลาออกไปแล้วหรือคู่แข่งที่มีเสียงสนับสนุนในสภาอย่างน้อย 112 ที่นั่งจากทั้งหมด 222 ที่นั่งจะนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไปขอให้กษัตริย์มาเลเซียทรงมีพระราชวินิจฉัยแต่งตั้งต่อไป

“อย่างไรก็ตาม หากไม่มีใครได้เสียงข้างมาก จะต้องมีนายกรัฐมนตรีรักษาการถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระราชาธิบดีโปรดเกล้าฯให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เผย