ไปดูนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ของเช็ก

25 ม.ค. 2563 | 01:45 น.

บทความพิเศษโดย:เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

นโยบายด้านพลังงานของเช็กอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเช็กโดยเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 รัฐบาลเช็กได้อนุมัตินโยบายด้านพลังงานฉบับล่าสุดโดยมีระยะเวลาครอบคลุมถึงปี 2583 (ระยะเวลาประมาณ 20 ปี) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่ (1) การสร้างความมั่นคงด้านแหล่งพลังงาน (2) การสร้างความสามารถในการแข่งขันในสาขาพลังงานและการยอมรับของภาคประชาสังคม และ (3) การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการกำหนดนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแนวนโยบายด้านพลังงานของสภาพแวดล้อม ระหว่างประเทศและความต้องการของตลาดโลก

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

ไทยสูญรายได้ Q1 ร่วม 5 หมื่นล. หลัง"สี จิ้นผิง" ห้ามทัวร์จีนเที่ยวทั่วโลก

ผวาฝุ่นพิษ-ไวรัสโคโรนา ทุบซ้ำ“ทัวร์ตรุษจีน”

เทศมองไทย2020 ท่องเที่ยวปรับอย่างไรให้อยู่รอด

ตั้งแต่ปี 2560 เช็กมีศักยภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 87 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ในขณะที่ความต้องการใช้พลังงานของประเทศอยู่ที่ 74 TWh ซึ่งแหล่งพลังงานหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า ได้แก่ 57.4% fossil fuels (ลิกไนต์ 44% ก๊าซธรรมชาติ 5.5% และ 5.4% bituminous coal) 35% พลังงานนิวเคลียร์ และ 7.6% พลังงานทดแทน (Biomass 3.6% แสงอาทิตย์ 2.1% น้ำ 1.4 และ ลม 0.45%) ในขณะเดียวกันพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินความต้องการบริโภคภายในประเทศถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ออสเตรีย โดยเช็กเป็นประเทศผู้ส่งออกกระแสไฟฟ้าเป็นอันดับที่ 9 ของโลกและอันดับที่ 3 ในอียู (รองจากฝรั่งเศสและเยอรมนี)

 

แหล่งพลังงานจากถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของเช็กในปัจจุบันแม้อัตราการผลิตถ่านหินของเช็กจะลดลงจาก 13 ล้านตัน เหลือเพียง 8 ล้านตันในช่วง 10 ปีที่ผ่าน แต่กลับมีการนำเข้าถ่านหินเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะจากโปแลนด์และเยอรมนี และยังมีการนำเข้าบางส่วนจากสหรัฐอเมริการวมทั้งยังเป็นประเทศนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเกือบ 100% เนื่องจากไม่สามารถผลิตเองได้ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศ แต่โดยที่เช็กเป็นสมาชิกของ European Transmission System ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัทผู้ส่งกระแสไฟฟ้า 43 แห่งใน 36 ประเทศในภูมิภาคยุโรป จึงทำให้เช็กสามารถนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้ตามราคาตลาดในแต่ละช่วงเวลา

 

ระบบการผลิตและการจ่ายกระแสไฟฟ้า

นับตั้งแต่ปี 2545 ระบบไฟฟ้าเช็กถูกแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) โดยรัฐบาลเช็กเป็นผู้ถือหุ้น 70% ภายใต้ชื่อ Czech Power Company, a.s. (CEZ) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการควบคุมการกระจายไฟฟ้า และคาดการณ์ว่า ในอนาคตรัฐบาลจะมีบทบาทในการควบคุมด้านพลังงานเพียงในเชิงนโยบาย เช่น การ ออกกฎหมาย การกำหนดราคา และการจัดเก็บภาษีเท่านั้น CEZ เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าประมาณ 2 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในประเทศและเป็นเจ้าของแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 9 แห่ง โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 2 แห่ง (ที่เมือง Dukovany และเมือง Temelin) โรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ 28 แห่ง โรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 11 แห่ง และโรงงานไฟฟ้าพลังงานลม 2 แห่ง ส่วนอีก 1 ใน 3 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มาจากการผลิต โดยผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าอิสระ เช่น International Power Opatovice, a.s. และ Elektrarna Kolin, a.s. และโดยบริษัทเอกชนเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมของตนเอง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อการบริโภคภายในภูมิภาคและท้องถิ่น ส่วนผู้รับผิดชอบการกระจายกระแสไฟฟ้าไปยังผู้บริโภคภายในประเทศเช็กประกอบด้วยบริษัทจำนวน  3 ราย ได้แก่ (1) CEZ, a.s. (2) E.ON Distribution, a.s. และ (3) PRE Group ซึ่งตั้งแต่ปี 2549 ผู้บริโภคทุกประเภทรวมทั้งภาคครัวเรือนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้บริการกระแสไฟฟ้าจากบริษัทใด โดยมี Energy Regulatory Office เป็นผู้กำหนดราคากระแสไฟฟ้า

ไปดูนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ของเช็ก

การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของเช็กเริ่มขึ้นในปี 2499 ในยุคที่ยังคงเป็นเชกโกสโลวะเกีย ซึ่งเริ่มจากการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกที่เมือง Jaslovske Bohunice (ปัจจุบันอยู่ในประเทศสโลวะเกีย) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการที่เชกโกสโลวะเกียเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ และเริ่มขาดแคลน fossil fuels (ขาดแคลนแหล่งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และการลดลงของปริมาณถ่านหินสำรองภายในประเทศอย่างรวดเร็ว)

 

ต่อมาในปี 2513 ได้มีการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ WWER-440/213 ซึ่งเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้เทคโนโลยีจากสหภาพโซเวียต จำนวน 4 เครื่อง มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเครื่องละประมาณ 468 – 471 MWe ที่เมือง Dukovany (ตั้งอยู่ในภูมิภาค Vysocina ติดกับภูมิภาค South Moravia) โดยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องแรกได้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2528 และอีก 3 เครื่องเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าในปี 2530 ซึ่งในขณะนั้นบริษัท Skoda เป็นผู้ผลิตส่วนประกอบทั้งหมดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมทั้งได้มีการส่งออกอะไหล่และส่วนประกอบของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไปยังประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980s เชกโกสะโลวะเกียได้ก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มอีก 4 เครื่องที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมือง Temelin (ตั้งอยู่ในภูมิภาค South Bohemian Region) มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเครื่องละ 1,028 MWe โดยยังคงใช้เครื่องปฏิกรณ์แบบ WWER-1000 ของสหภาพโซเวียตแต่การก่อสร้างยังคงไม่แล้วเสร็จจนในปี 2536 รัฐบาลเช็กได้ตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ของ บริษัท Westinghouse (บริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา) อย่างไรก็ดี พัฒนาการด้านนิวเคลียร์ของประเทศต้องมาสะดุดลงในช่วงทศวรรษ 90 ภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์และเกิดสภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน จนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Temelin 1 และ 2 เพิ่งสร้างเสร็จและเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อปี 2543 และ 2546 ตามลำดับ และเมื่อปี 2552 รัฐบาลเช็กได้เปิดให้บริษัทต่างชาติเข้าร่วมประมูลการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ Temelin 3 และ 4 แต่ต่อมารัฐบาลได้ยกเลิกการประมูลสัมปทานดังกล่าวในปี 2557 เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นปฏิเสธที่จะให้เงินอุดหนุนโครงการดังกล่าว

ไปดูนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ของเช็ก

ปัจจุบันเช็กมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 2 แห่ง (เมือง Dukovany มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 เครื่อง และเมือง Temelin มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง รวมทั้งหมด 6 เครื่อง) มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 3,932 MWe ต่อปี และเมื่อปี 2558 รัฐบาลเช็กได้อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านพลังงานนิวเคลียร์ (Czech National Action Plan) for Nuclear Energy ภายใต้ นยบ. ด้านพลังงานแห่งชาติ (State Energy Policy) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ (1) พลังงานนิวเคลียร์จะต้องมีสัดส่วนประมาณ 50% ของพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของ ปท. ภายในปี 2583 (2) การเพิ่มศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าให้อยู่ที่ 2,500 MWe ต่อปี และ 20 TWh ภายในปี 2573- 2578 (3) บำรุงรักษาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมือง Dukovany ให้มีอายุใช้งานประมาณ 50 – 60 ปี (4) กำหนดกรอบเวลาในการก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อทดแทนเครื่องเดิมที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมือง

Dukovany ที่จะยุติการใช้งานภายหลังปี 2578 และ (5) กำหนดแนวทางการจัดเก็บกากนิวเคลียร์ภายในปี 2568

 

นอกจากการเร่งพัฒนาและก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์และโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ตามแผนพัฒนาศักยภาพด้านพลังงานนิวเคลียร์แล้ว เช็กยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ Nuclear Research Institute ณ เมือง Rez (ภูมิภาค Central Bohemia) และ Czech Technical University (CTU), Prague ได้เปิดสอนสาขาวิศวกรรมนิวเคลียร์ ภายใต้คณะ Department of Nuclear Reactor ซึ่งเน้นในเรื่อง theoretical reactor physics, safety of nuclear facilities or computational tools for nuclear reactor analyses, advanced nuclear reactors, nuclear fuel cycles, spent nuclear fuel, design and test control and safety systems of nuclear reactors รวมทั้งกรุงปรากและพื้นที่ ใกล้เคียงยังเป็นที่ตั้งของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย (research reactor) จำนวน 3 เครื่อง ซึ่ง 2 เครื่องเป็นประเภท experimental reactors (LVR-15 และ LR-0) ตั้งอยู่ที่ Research Center, Rez และอีก 1 เครื่อง ประเภท training reactor (VR-1) ตั้งอยู่ที่ Faculty of Nuclear Sciences and Physical Engineering, CTU

ไปดูนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์ของเช็ก

แม้สถานการณ์ความขัดแย้งในโลกยุคปัจจุบันจะสร้างกระแสความหวาดกลัวให้กับประเทศมหาอำนาจต่อโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศต่าง ๆ แต่สิ่งที่ทุกประเทศไม่อาจจะปฏิเสธได้คือประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่นับวันเริ่มขาดแคลนขึ้นทุกที อีกทั้งพลังงานเชื้อเพลิงในรูปแบบดั้งเดิมยังเป็นต้นเหตุหลักของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเช็กในฐานะประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยและมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงภายในปี ค.ศ. 2030 จึงให้ความสำคัญกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติที่สอดคล้องกับมาตรฐานของอียูด้วยเช่นกัน