ยูเอ็นชมจีนต้นแบบลดฝุ่น PM2.5

22 ม.ค. 2563 | 08:37 น.

 

นครหลวงปักกิ่งของจีนได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติว่า สามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศที่เคยมีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนให้กลับมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยอีกครั้ง โดยความสำเร็จของจีนนั้น สามารถเป็นต้นแบบให้นานาประเทศที่กำลังประสบปัญหาคุณภาพอากาศเช่นเดียวกันสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้

ภาพถ่ายเปรียบเทียบอาคาร "รังนก" ในกรุงปักกิ่งในวันที่หมอกพิษปกคลุม กับวันที่คุณภาพอากาศกลับมาอยู่ในเกณฑ์ดี

จีนประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศในหลายเมืองใหญ่และมณฑลสำคัญ ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามในการควบคุมมลภาวะทางอากาศของรัฐบาลจีน ยกตัวอย่างเขตนครปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย พบว่าจำนวนวันที่คุณภาพอากาศอยู่ใน “เกณฑ์ดี” (โดยการตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศ) ในเดือนพ.ย. 2562 มีสัดส่วน 63% ซึ่งเพิ่มขึ้น 18.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561

ยูเอ็นชมจีนต้นแบบลดฝุ่น PM2.5

กระทรวงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม(MEE) ของจีนเปิดเผยว่า ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ค่าความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ที่เคยก่อให้เกิดหมอกฝุ่นหนาบดบังทัศนียภาพในเมืองใหญ่เหล่านี้ ลดลง 25.9% มาอยู่ที่ระดับ 63 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร(ซึ่งเป็นค่าคุณภาพอากาศในระดับปานกลาง หรือระดับสีเหลือง) ส่วนในพื้นที่อื่นๆ ก็มีรายงานคุณภาพอากาศในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน (ข้อมูลระหว่างเดือนม.ค.-พ.ย. 2562) โดยมีค่าความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในเขตภาคกลางลดลง 22% และในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

 

 

ทั้งนี้ MEE ได้ออกแนวทางการปฏิบัติให้รัฐบาลท้องถิ่นเฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และให้ร่วมมือกันระหว่างภูมิภาคของจีนเพื่อสยบปัญหามลภาวะทางอากาศ ต้นปีที่ผ่านมา ในการประชุมประจำปีของ MEE นายหลี่ กันจี รัฐมนตรีกระทรวงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของจีนเปิดเผยว่า ในปี 2561 เมืองใหญ่ 338 แห่งของจีน มีค่าเฉลี่ยความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ซึ่งสามารถสร้างปัญหาต่อระบบปอด หัวใจ และหลอดเลือดของร่างกายมนุษย์ ลดลง 9.3% ส่วนค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ในนครปักกิ่ง เมืองหลวง ลดลง 12.1% ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องมาจากปี 2560 ที่ค่าความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ในนครปักกิ่งลดลงถึง 20.5%      

 

ต่อสู้ 20 ปีจึงเริ่มเห็นผลสำเร็จ  

ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากความพยายามซึ่งใช้เวลาถึง 20 ปี รายงานของโครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ United Nations Environment Programme ชี้ว่า เริ่มจากปี 2541 รัฐบาลกลางของจีนได้เริ่มประกาศสงครามกับปัญหามลภาวะทางอากาศ นั่นหมายถึงการนำมาตรการที่เข้มงวดจริงจังมาใช้ เริ่มจากในเมืองหลวงปักกิ่ง  เวลาผ่านไป 20 ปีคุณภาพอากาศของปักกิ่งดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และบทเรียนของปักกิ่งก็อาจสร้างแรงจูงใจให้หลายเมืองใหญทั่วโลกลองนำไปประยุกต์ใช้

หอฟอกอากาศแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง

รายงานที่ชื่อว่า 20 ปีแห่งการควบคุมคุณภาพอากาศในปักกิ่ง (A Review of 20 years’ Air Pollution Control in Beijing) จัดทำโดย UN Environment และสำนักงานระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของเทศบาลนครปักกิ่ง (BEE)เป็นการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2541-สิ้นปี 2560 “คุณภาพอากาศที่ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลของการลงทุนมหาศาลทั้งในแง่ของเวลา ทรัพยากร และความจริงจังของฝั่งการเมือง” รายงานของยูเอ็นระบุ

ยูเอ็นชมจีนต้นแบบลดฝุ่น PM2.5

 

นายเหอ เค่อปิน อธิการบดีคณะสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยซิงหัวซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานของยูเอ็นฉบับนี้เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการปรับปรุงคุณภาพอากาศในกรุงปักกิ่งเริ่มเห็นได้ชัดระหว่างปี 2541-2556 แต่หลังจากนั้นกระบวนการก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อมีการบังคับใช้ แผนปฏิบัติการปรับปรุงคุณภาพอากาศแห่งนครปักกิ่ง (Beijing’s Clean Air Action Plan) ฉบับปี 2556-2560

 

ทั้งนี้ มลภาวะทางอากาศของนครปักกิ่งที่พุ่งถึงจุดวิกฤตในปี 2541 เกิดจากปัจจัยหลักคือ ไอเสียจากยวดยานพาหนะและการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงงาน ช่วง 15 ปีแรกของการต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจีนเน้นใช้มาตรการปรับปรุงการใช้เชื้อเพลิงของโรงงาน  ควบคุมการเผาถ่านหิน-พัฒนาเทคโนโลยีเตาเผา  ควบคุมการปล่อยไอเสียของรถยนต์ และสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาดอื่นๆทดแทน  

ยูเอ็นชมจีนต้นแบบลดฝุ่น PM2.5

ในปี 2556 เริ่มเห็นผลลัพธ์เชิงบวกเมื่อค่าสิ่งแปลกปลอมในอากาศลดน้อยลง และปริมาณก๊าซพิษเช่นคาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ปะปนอยู่ในอากาศ ก็ลดลงมาอยู่ภายในเกณฑ์มาตรฐานของจีน กระทั่งสิ้นปี 2560 ปริมาณความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ในนครปักกิ่งลดลง 35% ส่วนภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย ค่าฝุ่น PM2.5 ลดลง 25%

 

ระบบบริหารจัดการคุณภาพอากาศของจีนประกอบด้วยกระบวนการต่างๆที่เป็นระบบและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การเฝ้าติดตามเก็บข้อมูลและประเมินผล การศึกษาต้นเหตุ-แหล่งที่มาของมลภาวะทางอากาศและก๊าซไอเสียต่างๆ รวมไปถึงกลไกทางกฎหมายและมาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์  

 

นายหยู เจี้ยนหวา  ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สังกัดเทศบาลนครปักกิ่ง ยอมรับว่า แม้จะประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำต่อไป “ปัจจุบันค่าความหนาแน่นของฝุ่น PM2.5 ในนครปักกิ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมายมาตรฐานคุณภาพอากาศระดับชาติของจีนเอง และยังนับว่าสูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก นอกจากนี้ ปัญหาที่บางเบาลงไปแล้ว ยังสามารถกลับมาน่าห่วงได้ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูหนาวเนื่องจากความกดอากาศ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “การแก้ไขปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพอากาศเป็นกระบวนการที่ต้องทำกันในระยะยาว และจีนเองยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ที่เราสั่งสมมายาวนานหลายปี”  ด้านนายหลิว เจี้ยน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ UN Environment กล่าวสรุปว่า ความสำเร็จของจีนเป็นผลมาจากความจริงจังของรัฐบาลที่เน้นปกป้องสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการควบคุมการสร้างมลภาวะใหม่ทางอากาศ

หอฟอกอากาศขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในเมืองซีอาน ทางภาคเหนือของประเทศจีน