ยอดขายเบียร์วูบ 25% กม.ใหม่เวียดนามปรับหนักเมาแล้วขับ

21 ม.ค. 2563 | 05:15 น.

 

กฎหมายห้ามเมาแล้วขับที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในประเทศเวียดนามมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ส่งผลให้มีการเข้มงวดตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะจนมีการสั่งปรับผู้ฝ่าฝืนไปแล้วมากกว่า 6,200 รายนับตั้งแต่ต้นปีมา และยังส่งผลให้ยอดขายเบียร์ในประเทศเวียดนามลดลงมาแล้วอย่างน้อย 25% ภายในช่วงเวลาดังกล่าว

 

เวียดนามได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่มีอัตราการบริโภคเบียร์ขยายตัวอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ทำให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตเบียร์ทั่วโลกสนใจเข้ามาลงทุนและช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ปริมาณการบริโภคเบียร์ในเวียดนามเพิ่มขึ้นเกือบๆ 4 เท่า แต่มาตรการคุมเข้มการดื่มเบียร์พร้อมโทษปรับหนักที่เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปีใหม่ 2563 ด้วยเป้าหมายต้องการลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลังๆนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากการเมาแล้วขับ ทำให้ยอดจำหน่ายเบียร์เริ่มชะลอตัว ซึ่งบรรดาผู้ผลิตก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปด้วยการปรับลดราคาลงมาเพื่อหวังกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่เทศกาลวันหยุดตรุษจีนกำลังใกล้เข้ามา    

ยอดขายเบียร์วูบ 25% กม.ใหม่เวียดนามปรับหนักเมาแล้วขับ
 

 

ภายใต้กฎหมายใหม่ดังกล่าวผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะที่ถูกตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกำหนด ถ้าเป็นผู้ขี่มอเตอร์ไซค์จะถูกปรับสูงสุดได้ถึง 8 ล้านด่อง หรือประมาณ 345 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยกว่า 10,000 บาท ซึ่งสูงกว่าอัตราปรับเดิมถึง 2 เท่า ทั้งยังอาจถูกระงับการใช้ใบขับขี่เป็นเวลาถึง 2 ปี เพิ่มขึ้นจากโทษเดิมที่ระงับเพียง 5 เดือน ส่วนอัตราค่าปรับสำหรับผู้ที่ขับขี่รถยนต์หรือรถบรรทุกอาจสูงถึง 40 ล้านด่องพร้อมการสั่งระงับใบขับขี่   นอกจากนี้ กฎหมายยังบังคับให้โฆษณาเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆมีคำเตือนด้านสุขภาพประกอบมาด้วยทุกครั้ง และถ้าเป็นร้านค้าที่จำหน่ายเบียร์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ต้องติดป้ายเตือนด้วยว่า ห้ามจำหน่ายแก่ลูกค้าที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี  ทั้งนี้ หน่วยงานฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของเวียดนามก็มีความเข้มงวดและตรวจ-จับ-ปรับจริงจัง โดยสถิตินับตั้งแต่ต้นปีมาพบว่า ช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2563 มีการออกใบสั่งปรับแล้วจำนวน 6,279 รายคิดเป็นมูลค่ารวม 21,000 ล้านด่อง  

ยอดขายเบียร์วูบ 25% กม.ใหม่เวียดนามปรับหนักเมาแล้วขับ

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเวียดนามเปิดเผยว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติภัยบนท้องถนนมากยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหลายครั้งและบางเหตุการณ์ก็เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจบนโลกโซเชียลมีเดีย เช่นกรณีคลิปเด็กชายเวียดนามร้องไห้คร่ำครวญข้างๆศพมารดาที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเมาแล้วขับทำให้มีการออกมาแสดงพลังในกรุงฮานอยเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มโทษและเข้มงวดกับกฎหมายควบคุมการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ให้มากยิ่งขึ้น กระทั่งนักการเมืองหญิงของเวียดนาม รวมทั้งประธานสภาผู้แทนหญิงคนแรกได้ออกมาร่วมกันผลักดันให้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะแม่งาน ช่วยกันผ่านร่างกฎหมายควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่ขับขี่ยวดยานเป็นผลสำเร็จ

 

ดื่มมากมีผลสะเทือนเศรษฐกิจ

สถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่า เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุที่สร้างปัญหาด้านสุขภาพให้คนเวียดนามมากยิ่งขึ้น โดยประมาณการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับสุรายาเมาประมาณ 79,000 คนต่อปี มากกว่า 80% ของนักดื่มในเวียดนามเป็นผู้ชาย ปัญหาการดื่มไม่เพียงสร้างปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังสร้างปัญหาทางสังคม เพิ่มคดีอาชญากรรม การใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมทั้งอุบัติเหตุบนท้องถนน

ยอดขายเบียร์วูบ 25% กม.ใหม่เวียดนามปรับหนักเมาแล้วขับ

นายเลอ ธิ ธู ผู้จัดการโครงการของมูลนิธิ เฮลธ์บริดจ์ ฟาวเดชัน ออฟ แคนาดา สาขากรุงฮานอย เปิดเผยว่า ผลกระทบเชิงลบในรูปแบบต่างๆของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเทียบเท่า 1.3-3.3% ของจีดีพีของประเทศ   

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเบียร์ของเวียดนามเปิดเผยว่า ถึงแม้จะเห็นด้วยที่ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการไม่ดื่มแล้วขับ หรือขับขี่รถในขณะมึนเมา แต่ก็เห็นว่า อัตราค่าปรับและโทษที่จะได้รับนั้น สูงเกินไป

 

ข้อมูลของบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้ว่า คนหนุ่มสาวและชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นของเวียดนาม มีส่วนช่วยผลักดันให้ปริมาณการบริโภคเบียร์พุ่งขึ้น 284% ระหว่างปี 2547-2561 และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ๆ รวมทั้งบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของไทย ให้เข้าไปซื้อกิจการผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของเวียดนามเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อยึดหัวหาดตลาดที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงและเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (ยอดการบริโภคเบียร์เฉลี่ย/คน/ปี อยู่ที่ 43 ลิตร หรือเพิ่มขึ้น 30% ระหว่างปี 2556-2561) สวนทางกับตลาดสหรัฐฯที่ปริมาณการบริโภคเบียร์ลดลง 4% ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น   

 

“คนเวียดนามนิยมดื่มเพื่อสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ ดื่มเมื่อชมและเชียร์กีฬา และดื่มเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ พวกเขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตลอดเวลาและดื่มได้ทุกที่ที่อยากจะดื่ม” นายเลอ ธิ ธู ผู้จัดการโครงการของมูลนิธิ เฮลธ์บริดจ์ ฟาวเดชัน ออฟ แคนาดา สาขากรุงฮานอย ให้ความเห็น แน่นอนว่ากฎหมายใหม่ที่เข้มงวดส่งผลกระทบต่อการดื่ม และเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นเกี่ยวกับกลอุบายในการหลีกเลี่ยง เช่นการประกาศขายยาเม็ด “สลายแอลกอฮอล์” (alcohol detox pills)ที่ลงโฆษณาในร้านค้าออนไลน์ของเวียดนามว่า ให้ใช้กินหลังดื่ม เพื่อตำรวจจะได้ตรวจไม่พบแอลกอฮอล์ในร่างกายและไม่โดนปรับ หรือบางร้านอาหารและสถานบันเทิงที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีบริการใหม่คือบริการเรียกมอเตอร์ไซค์หรือแท๊กซี่ให้ขับไปส่งลูกค้าที่เมาหรือดื่มแอลกอฮอล์แล้วไม่อยากให้ตำรวจมาวุ่นวาย