อังกฤษผวาฝุ่น PM2.5 เพชฌฆาตเงียบแห่งทศวรรษ

19 มกราคม 2563

 

ผลศึกษาในอังกฤษชี้ภัยฝุ่นจิ๋ว PM2.5 และมลภาวะทางอากาศจะเป็นต้นเหตุคร่าชีวิตประชากร 160,000 คนในทศวรรษหน้าหากภาครัฐไม่เร่งหามาตรการรับมืออย่างเหมาะสม

 

มูลนิธิ เดอะ บริติช ฮาร์ท ฟาวเดชัน (BHF: The British Heart Foundation) เปิดเผยผลการศึกษาคาดการณ์ว่า ภายในช่วงทศวรรษหน้า ประชากรมากกว่า 160,000 คนของอังกฤษจะเสียชีวิตด้วยอาการโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวายที่มีสาเหตุจากมลภาวะทางอากาศ ซึ่งนั่นเทียบเท่ากับว่า ในทุกๆวันจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 คนด้วยโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจที่มีสาเหตุมาจากมลภาวะทางอากาศ

หมอกควันพิษบดบังทัศนียภาพมหานครลอนดอน

การรวบรวมสถิติของ BHF  ชี้ว่า ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าวในอัตราปีละประมาณ 11,000 คน แต่แนวโน้มจะยิ่งสูงขึ้นมากกว่านี้เนื่องจากสัดส่วนประชากรสูงวัยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทางมูลนิธิ BHF จึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษนำแนวทางปฏิบัติขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยเรื่องมลภาวะทางอากาศมาใช้ และทำให้ได้ตามเป้าหมายที่ WHO กำหนดไว้ภายในปี 2573 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า 

อังกฤษผวาฝุ่น PM2.5 เพชฌฆาตเงียบแห่งทศวรรษ

ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรป (อียู) กำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) หรือ AQI ไว้ โดยให้มีฝุ่น PM2.5 หรืออนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) ในอัตราเฉลี่ยต่อปีไม่เกิน 25μg/m3 (25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งอังกฤษสามารถควบคุมคุณภาพอากาศให้อยู่ภายในเกณฑ์ดังกล่าวได้ แต่มาตรฐานของ WHO เข้มงวดกว่านั้น คือกำหนดค่าเฉลี่ยต่อปีให้ไม่เกิน 10μg/m3 (10ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

 

เนื่องจากฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายรุนแรงต่อหัวใจ จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจวายและหลอดเลือดสมองในประชากรโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัย รวมทั้งจะทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่แล้วมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ นายเจค็อบ เวสต์ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิ BHF เปิดเผยผ่านเดอะ การ์เดี้ยน สื่อใหญ่ของอังกฤษว่า ทุกๆวันมีคนอังกฤษนับล้านคนที่ต้องสูดฝุ่นพิษขนาดจิ๋วนี้เข้าไปในร่างกาย เข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตและเข้าไปสะสมอยู่ในระบบของร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ “อากาศเป็นพิษคือปัญหาเร่งด่วนด้านสาธารณสุขของเรา และรัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขภัยคุกคามนี้ให้มากพอ”

 

ในเดือนกรกฎาคม 2562 กระทรวงสิ่งแวดล้อมและกิจการชนบทของอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาที่ชี้ว่า มีความเป็นไปได้ที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของอังกฤษจะสามารถควบคุมคุณภาพอากาศให้มีความปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกภายในปี 2573  ทั้งนี้ นอกจากกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศแล้ว อังกฤษยังมีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพอากาศ หรือ Clean Air Strategy ที่ได้รับการยกย่องจาก WHO ว่าสามารถเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่นนำไปปฏิบัติตามได้ และกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่พุ่งเป้าควบคุมเกี่ยวกับฝุ่นขนาดจิ๋วในอากาศโดยใช้กลไกทางกฎหมาย