เมื่อรัฐมนตรีญี่ปุ่นแปลงร่างเป็น “อิคุเมน”

17 ม.ค. 2563 | 08:06 น.

รัฐมนตรีหนุ่มวัย 38 ปีของญี่ปุ่นประกาศลาพักเพื่อใช้สิทธิเลี้ยงดูบุตร กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะจะกลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ใช้สิทธินี้

เมื่อทายาททางการเมืองของ "อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จุนอิจิโร โคอิซูมิ" ผู้ซึ่งถูกกล่าวขวัญว่าเป็นนักการเมืองหนุ่มหน้าตาดี อนาคตไกล และมีสิทธิที่จะเป็นได้ถึงผู้นำญี่ปุ่นในอนาคต ขอใช้สิทธิลาพักตามกฏหมายเพื่อออกไปช่วยภรรยาเลี้ยงลูกที่อีกไม่นานจะมีกำหนดคลอดบุตร ข่าวนี้สื่อทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

หากย้อนกลับไปสักสิบปี ข่าวนี้ก็จะเป็นเรื่องใหญ่เช่นเดียวกัน แต่จะกลายเป็นข่าวใหญ่ในญี่ปุ่นที่มีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสมในการลาพักทั้งๆที่ตัวเองเป็นถึงรัฐมนตรี
แต่มาวันนี้ความเห็นของผู้คนในญี่ปุ่นเปลี่ยนไป หลังจากที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น "ชินจิโร โคอิซูมิ" ระบุว่าจะใช้เวลาพักเพื่อเลี้ยงดูบุตรเป็นเวลาสองสัปดาห์ โดยภรรยาของเขามีกำหนดคลอดบุตรในปลายเดือนมกราคมนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นตามแผนที่ ชินจิโร วางไว้จริง เขาจะกลายเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ใช้สิทธินี้ ปฎิกิริยาของผู้คนต่างเห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และมองว่านี่คือแนวคิดใหม่ของคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น  
 
โคอิซูมิผู้พ่อ อดีตผู้นำญี่ปุ่นและบุตรชาย-รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

หากไปเปิดดูชั่วโมงจำนวนการทำงานของญี่ปุ่นแล้วจะพบว่า อยู่ในอันดับต้นๆของโลก  ฟอร์จูนดอทคอม เคยเปิดเผยรายงานไว้เมื่อปี 2558 ว่า ญี่ปุ่นมีการทำงานเฉลี่ยสูงกว่า  กลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) 33.25 ชั่วโมง จากค่าเฉลี่ยที่ 30.94 ชั่วโมง/สัปดาห์ และอยู่ในอันดับต้นๆของโลก

ปัญหาจากการทำงานหนักของคนญี่ปุ่นมีการพูดอยู่บ่อยครั้ง มีอาการที่เรียกกันว่า 'คาโรชิ' (Karochi syndrome) หรืออาการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก ซึ่งกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นได้รับคำร้องขอเรียกเงินชดเชยจากกรณีนี้ มากถึง 1,456 ราย ในปี 2557 ทั้งเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานมากเกินไป และการฆ่าตัวตายจากความเครียดในการทำงาน

ชินจิโร โคอิซูมิ และ คริสเทล ทากิกาว่า ภรรยาผู้ประกาศข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น

การลาเพื่อเลี้ยงบุตรของ “โคอิซูมิ” จึงกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เพราะนี่คือความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมญี่ปุ่น และเปลี่ยนโดยผู้ที่มีตำแหน่งเป็นถึงรัฐมนตรี  มองให้ลึกลงไปนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ การที่ผู้ชายญี่ปุ่นจะมีเวลาให้กับลูก ทำงานบ้าน ทำหน้าที่แทนภรรยา กลายเป็นเทรนฮิตจนมีคำที่ใช้เรียกเฉพาะว่า Ikumen (อิคุเมน) ซึ่งเป็นคำผสมที่มาจากคำว่า Ikuji (อิคุจิ) ที่แปลว่า การเลี้ยงดูเด็ก และ Ikemen (อิคิเมน) ซึ่งเป็นคำฮิตที่สาวๆญี่ปุ่นใช้นิยาม ชายญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตในรูปแบบสังคมเมือง ดูเท่ แมนและน่าตื่นเต้น และคำนี่ก็ถูกใช้เป็นนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณะสุข แรงงานและสวัสดิภาพสังคม ในปี 2010 ซึ่งผลักดันนโยบายและประกาศให้ “อิคุเมน” เป็นแนวทางเพื่อให้ครอบครัวชาวญี่ปุ่นได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น  

ชั้นเรียนในญี่ปุ่น ที่สอนการเลี้ยงดูบุตรให้กับผู้ชาย

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหน้าสื่อเมื่อวาน ทางผู้อำนวยการองค์การค้าและเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ยูมิโกะ มุราคามิ บอกว่าเรื่องนี้จะเป็นการจุดประกายและเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดภาวะสมดุลในสังคมญี่ปุ่นที่มีปัญหาจำนวนประชากร ซึ่งเมื่อปีที่แล้วจำนวนประชากรเกิดใหม่ของญี่ปุ่นต่ำที่สุดในรอบ 100 ปี นับตั้งแต่ศตวรรษ 19 เป็นต้นมา  

ยูมิโกะ มุราคามิ กล่าวว่า หากผู้ชายใช้สิทธิลาพักและช่วยภรรยาเลี้ยงลูก เธอจะรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุน และอาจตัดสินที่จะมีลูกคนที่สองและสามต่อไป