7ปัญหา โจทย์หินข้อตกลงการค้าเฟส 2

18 ม.ค. 2563 | 08:20 น.

 

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาและจีนจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 กันไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2563 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่นั่นก็เป็นเพียงก้าวแรกของความพยายามคลี่คลายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย การเรียกขานข้อตกลงฉบับนี้ว่า ข้อตกลงการค้าเฟส 1 บ่งบอกอยู่แล้วว่า การคลี่คลายปัญหาจะถูกแบ่งออกเป็นช่วงๆ มีลำดับขั้นตอน ไม่ใช่การแก้ไขครั้งเดียวแล้วจบเลย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาให้ข่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อมีการลงนามข้อตกลงเฟส 1 เรียบร้อยแล้ว เขาก็พร้อมจะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อหารือกับฝ่ายจีนเพื่อสร้างความคืบหน้าให้กับข้อตกลงเฟส 2 เป็นลำดับต่อไป ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะได้เห็นความคืบหน้าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

 

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯและจีนยังคงแสดงความมุ่งมั่นกับการเดินหน้าหารือเพื่อทำข้อตกลงการค้าขั้นต่อไป ที่มีเนื้อหามากไปกว่าการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯไปยังตลาดจีนเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับภาคการเกษตรของสหรัฐฯ และการให้ความมั่นใจจากฝ่ายจีนว่าจะปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อไม่ให้มีการบังคับหรือกดดันให้บริษัทต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทท้องถิ่นของจีน รวมถึงการตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการตั้งกำแพงภาษีใส่กันเพิ่มขึ้นมากไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่หลายฝ่ายก็ยังแสดงความกังวลว่า หลังจากข้อตกลงการค้าเฟส 1 แล้ว อาจจะตั้งความหวังอะไรจากข้อตกลงเฟส 2 ได้ไม่มากนัก เพราะยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ข้อตกลงฉบับถัดไปจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ และในระหว่างนั้นกำแพงภาษีบางส่วนที่ถูกตั้งขึ้นมาแล้วจากทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงที่ใช้มาตรการภาษีโต้ตอบกันไปมาก่อนหน้านี้ ก็ยังคงมีอยู่


ดังนั้น จึงหมายความว่า ผู้ประกอบการทั้งฝ่ายสหรัฐฯและจีน ยังจะต้องเผชิญอุปสรรคการค้าในรูปกำแพงภาษีต่อไปซึ่งจะยาวนานแค่ไหนก็ยังไม่อาจคาดเดาได้ แต่เชื่อว่าอย่างน้อยน่าจะคงอยู่ต่อไปอีกตลอดช่วงปีนี้

7ปัญหา โจทย์หินข้อตกลงการค้าเฟส 2

 

“ผมคิดว่ามีความเสี่ยงอย่างมากที่ข้อตกลงการค้าเฟส 2 จะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยซํ้า เพราะประเด็นปัญหาที่ยุ่งยากจริงๆ นั้น ถูกเก็บไว้ถกกันในขั้นของการทำข้อตกลงเฟส 2” นายเดวิด เฟรนช์ รองประธานอาวุโส สมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐฯ ให้ความเห็น และถึงแม้ว่า ข้อตกลงเฟส 1 จะทำให้ไม่มีการตั้งกำแพงภาษีเพิ่มขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่ แต่อัตราภาษีบางส่วนที่ขึ้นไปแล้ว ก็ยังไม่ได้อยู่ในข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะปรับลดลงมา ทำให้ต้นทุนการนำเข้า สินค้ายังสูงอยู่ และนั่นก็หมายความว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภคด้วย “แม้ว่าจะมีการลงนามข้อตกลงเฟส 1 กันแล้ว แต่เราก็ยังมีภาษีที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนเฉลี่ยที่อัตรา 21% ซึ่งนับว่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับอัตราภาษีในช่วงก่อนที่สงครามการค้าจะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนั้นสินค้าจีนถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตราเฉลี่ยเกือบๆ 3% เท่านั้น”

 

รองประธานอาวุโส สมาพันธ์ ค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐฯกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่มีข้อตกลงการค้าเฟส 1 สินค้าจากจีนบางรายการ มูลค่ารวมกัน 120,000 ล้านดอลลาร์ จะได้รับการลดภาษีลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียงอัตรา 7.5% แต่สินค้าอีกกลุ่มหนึ่งในวงเงินรวม 250,000 ล้านดอลลาร์ยังจะคงถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตราสูงถึง 25% “ดังนั้น ถึงจะมีข้อตกลงเฟส 1 แล้ว แต่ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับจีนยังอยู่ห่างไกลกับคำว่าระดับปกติเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต”

7ปัญหา โจทย์หินข้อตกลงการค้าเฟส 2

 

นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าข้อตกลงเฟส 1 จะช่วยให้เกษตรกรของสหรัฐฯสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะถั่วเหลืองและสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ยอดขายตกตํ่าลงมากนับตั้งแต่ที่สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯได้ปะทุขึ้น แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่า แม้ปัญหาส่วนหนึ่งจะคลี่คลายลงไป นั่นก็อาจจะยังไม่เพียงพอ นายไบรอัน คูลห์ ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรเกษตรกรเพื่อการค้าเสรี ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรของเกษตรกรสหรัฐฯที่คัดค้านการใช้มาตรการตั้งกำแพงภาษีกีดกันการค้า ได้ออกมาเปิดเผยว่า หลังมีข้อตกลงการค้าเฟส 1 กำแพงภาษีที่สหรัฐฯขยับขึ้นมาแล้ว 80% ก็ยังคงอยู่ และนั่นก็หมายถึงต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้บริโภคของสหรัฐฯ “ใช่ว่ามีข้อตกลงฉบับนี้แล้ว ปัญหาทุกอย่างจะจบลง”

 

น่าห่วงยิ่งไปกว่านั้นคือหลายฝ่ายมองว่า ประเด็นปัญหาที่ยุ่งยากและมีความซับซ้อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี หรือการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน ประเด็นเหล่านี้ถูกเก็บไว้หารือในขั้นของการจัดทำข้อตกลงการค้าเฟส 2 จนทำให้ยากที่จะเชื่อว่า สหรัฐฯและจีนจะหาทางออกให้กับประเด็นปัญหาเหล่านี้ได้ง่ายๆ

 

การบรรลุข้อตกลงเฟส 2 จึงเป็นโจทย์โหดหินที่อาจต้องใช้เวลาในการเจรจามากกว่าข้อตกลงเฟส 1 ทั้งนี้ ประเด็นปัญหาที่ยังคงเหลืออยู่คือสิ่งที่สหรัฐฯมองว่าเป็นพฤติกรรมการค้าของฝ่ายจีนที่ไม่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐฯ อาจจะสรุปได้ว่ามี 7 ประเด็นปัญหาหลัก ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ และนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาฝ่ายการค้าของเขา เรียกว่าเป็น “บาปหนัก 7 ประการ” ของฝ่ายจีน ซึ่งได้แก่ การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับให้บริษัทต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี การโจมตีทางไซเบอร์ การขายสินค้าในราคาทุ่มตลาด การให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ
การส่งเฟนทานิลซึ่งเป็นสารเสพติด มายังสหรัฐฯ และการบิดเบือนค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า

 

จะเห็นได้ว่าบางข้อ ได้มีการพูดถึงและเริ่มมีการคลี่คลายปัญหาลงแล้วในข้อตกลงเฟส 1 แต่ที่เหลือซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข และถูกยกยอดให้ไปถกกันต่อในโต๊ะเจรจาข้อตกลงการค้าเฟส 2

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,541 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2563

7ปัญหา โจทย์หินข้อตกลงการค้าเฟส 2