เปิดเนื้อในการค้าเฟส 1 โจทย์ใหญ่จีนนำเข้าสินค้าเกษตร

15 ม.ค. 2563 | 08:15 น.

 

การลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ อเมริกาและจีนที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ที่กำหนดมีขึ้นในวันที่ 15 มกราคม 2563 นี้ ส่งผลให้สงครามการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ยุติลงชั่วคราวและเริ่มส่งผลให้เห็นถึงกระบวนการคลี่คลายความขัดแย้งที่ทยอยมีตามมา เช่นล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศถอนชื่อจีนออกจากบัญชีประเทศที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย “บิดเบือนค่าเงิน” หรือ currency manipulator แล้วเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกและเพิ่มความหวังให้กับการเจรจาคลี่คลายข้อขัดแย้งในเรื่องอื่นๆ เป็นลำดับถัดไป รวมทั้งการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเฟส 2 และเฟสอื่นๆ ที่กำลังจะมีตามมาในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่หลายฝ่ายยังคงเฝ้าติดตามเนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดออกมาอย่างเป็นทางการ (จนถึง ณ ขณะปิดต้นฉบับรายงานชิ้นนี้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม เวลาในไทย) นอกเหนือจากเนื้อหาของข้อตกลงฉบับสำคัญนี้ว่าจะมีอะไรบ้างแล้ว มาตรการที่จะถูกนำมาใช้ให้เป็นหลักประกันว่าสิ่งที่ตกลงกันไว้ จะได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อเป้าหมายที่ทั้ง 2 ฝ่ายคาดหวัง ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายยังตั้งคำถามคาใจ โดยเป้าสายตาพุ่งไปที่จีน ว่าจะสามารถรักษาคำพูดและดำเนินการตามแนวทางที่ตกลงกันไว้อย่างดิบดีหรือไม่

 

“บางคนยังคาดหมายในเชิงลบเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ เพราะการให้คำสัญญาของฝ่ายจีนที่ว่าจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณมากนั้น เป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วเห็นว่ายากเกินกว่าที่จะทำได้จริงๆ” นักวิเคราะห์รายหนึ่งจากตลาดซื้อขายข้าวโพดล่วงหน้าในสหรัฐฯ ให้ความเห็น แต่ในขณะเดียวกัน ผู้เฝ้าสังเกตการณ์อีกส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่า มีการส่งสัญญาณเชิงบวกจากฝ่ายจีนเป็นระยะๆ ว่าจีนเองก็มีความตั้งใจที่จะคลี่คลายความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ในระยะยาว เช่น การปรับนโยบายขนานใหญ่เกี่ยวกับมาตรการที่เคยบังคับให้บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีน ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทท้องถิ่นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงท่าทีของจีนในเรื่องนี้เป็นข่าวดีสำหรับการเจรจา นายคลีท วิลเล็มส์ อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวฝ่ายการค้า ให้ความเห็นว่า ท่าทีของจีนที่แสดงให้เห็นว่าตั้งใจจริงที่จะปรับแก้นโยบายว่าด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญ ที่เชื่อว่าจะมีการระบุถึงในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ซึ่งเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการยุติสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

เปิดเนื้อในการค้าเฟส 1  โจทย์ใหญ่จีนนำเข้าสินค้าเกษตร

ก้าวแรก : เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ

จากเอกสารของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ที่เผยแพร่ผ่านสื่อของสหรัฐฯ ระบุว่า เนื้อหาของข้อตกลงการค้าเฟส 1 จะประกอบด้วยการเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าในกลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร สินค้าประมงและอาหารทะเล จากสหรัฐฯไปยังประเทศจีนมากยิ่งขึ้น และการที่จีนตกลงจะยุติการบีบบังคับหรือกดดันให้บริษัทต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทท้องถิ่นของจีน ยูเอสทีอาร์ยังระบุว่า ข้อตกลงนี้ยํ้าชัดถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่ต่อต้านการบิดเบือนค่าเงิน และการให้พันธะสัญญาของจีนที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มูลค่าอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6 ล้านล้านบาท ภายในระยะ 2 ปีข้างหน้า

 

ในจำนวนดังกล่าวนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดหมายว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าเกษตร 40,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตัวเลขดังกล่าวนักวิเคราะห์มองว่าอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะจากสถิติที่ผ่านมา จีนเคยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ มูลค่าสูงสุดไม่เคยเกินปีละ 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น หากตัวเลขเป้าหมายเป็น 40,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจริงๆ จะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากในเชิงปฏิบัติ

 

นอกจากการเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แล้ว ทั้ง 2 ฝ่ายจะยุติการเพิ่มกำแพงภาษีใหม่ และจะขยับภาษีส่วนหนึ่งที่ขึ้นไปแล้วให้ลดตํ่าลงมา อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ จะยังคงเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าจีน (ที่ขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 380,000 ล้านดอลลาร์

 

ถ้าจีนเบี้ยวข้อตกลง สหรัฐฯก็สามารถขึ้นภาษีสินค้าจีนได้อีกทุกเมื่อ

ข้องใจมาตรการบังคับใช้

ข่าวระบุว่า รายละเอียดของเนื้อหาข้อตกลงจะมีการนำขึ้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ของยูเอสทีอาร์ในวันพุธที่ 15 มกราคมนี้หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 แล้ว (เวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ)

 

พีเจ เควด โบรกเกอร์ซื้อขายข้าวโพดในตลาดล่วงหน้าชิคาโก ของบริษัท ซีเอ็มอี กรุ๊ปฯ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เขาอยากรู้มากที่สุดก็คือ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ จะบังคับใช้ข้อตกลงฉบับนี้อย่างไร หากจีนไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่รับปากไว้ “ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตํ่ากว่าสิ่งที่คนคาดหวังเอาไว้ เราคงได้เห็นการแห่เทขายอย่างแน่นอน”

 

ขณะที่สื่อจีนเองก็สะท้อนความไม่แน่นอนที่ยังปกคลุมบรรยากาศในภาพรวม โดยหนังสือพิมพ์อีโคโนมิก เดลี่ สื่อของรัฐบาลจีนได้โพสต์บทความในบล็อกแสดงทรรศนะที่ชื่อ Taoran Notes ใจความว่า ต้องไม่ลืมว่าสงครามการค้ายังไม่ได้สิ้นสุดลง เพราะสหรัฐฯ ยังไม่ได้ยกเลิกภาษีทั้งหมดที่ขึ้นไปแล้วให้กับสินค้าจีน ขณะที่จีนเองก็ยังมีภาษีตอบโต้มาตรการของสหรัฐฯ ที่ยังคงใช้อยู่ ดังนั้น หนทางข้างหน้ายังคงมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมากมาย

 

นายดอน รูส ประธานบริษัท เดอ มอยน์สฯ ผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์ในรัฐไอโอวา ให้ความเห็นว่า หัวใจสำคัญของข้อตกลงเฟส 1 คือพันธกิจของจีนในการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ซึ่งเขาคาดหวังปริมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์ในปีแรก และ 40,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ 2 แม้ว่าจะยังไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจีนจะปฏิบัติตามสิ่งที่รับปากไว้หรือไม่ “ถึงแม้จะมีเครื่องหมายคำถามอยู่ แต่หากต้องการจะเดินหน้าไปให้ถึงเฟส 2 ทั้ง 2 ฝ่ายก็จำเป็นต้องแสดงความหนักแน่นว่าพวกเขาจะทำตามในสิ่งที่ตกลงไว้ให้ได้”

 

มีสัญญาณเชิงบวกจากจีนในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเรื่องสินค้าเกษตรในกลุ่มสินค้าตัดแต่งพันธุกรรมซึ่งจีนเคยคัดค้านการนำเข้ามาโดยตลอด แต่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายออกมาให้ข่าวว่าได้มีการบรรลุข้อตกลงการค้าเฟส 1 แล้ว รัฐบาลจีนก็ยินยอมอนุมัติให้มีการนำเข้าถั่วเหลืองและมะละกอตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) จากสหรัฐฯเป็นครั้งแรก

 

นายคลีท วิลเล็มส์ อดีตที่ปรึกษาทำเนียบขาวฝ่ายการค้า ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า นี่คือก้าวที่สำคัญที่ควรให้ความสนใจมากกว่าปริมาณการนำเข้าว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะการปรับเปลี่ยนท่าทีของจีนในเรื่องสินค้าเกษตรจีเอ็มโอถือเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างนโยบายที่มีความสำคัญมากกว่าหากพิจารณาในระยะยาว

 

ทั้งนี้ เขายํ้าว่าผู้นำสหรัฐฯ มีอำนาจที่จะใช้กฎหมายการค้ามาตรา 301 ปี 1974 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสามารถใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้หรือลงโทษประเทศคู่ค้าที่มีพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐฯ หรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ข้อตกลงที่ทำกันไว้ ซึ่งอำนาจดังกล่าวก็เป็นคำตอบสำหรับผู้ที่ยังคงข้องใจว่า  ถ้าจีนไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ตกลงกันไว้ภายใต้ข้อตกลงเฟส 1 สหรัฐฯ จะทำอย่างไร เพราะคำตอบก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น สหรัฐฯ ก็สามารถกลับมาใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าจีนได้อีกทุกเมื่อ

 

หน้า 12 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563