โบอิ้งเสียแชมป์ผู้ผลิตเครื่องบินเบอร์1 ของโลก

15 ม.ค. 2563 | 00:24 น.

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์ (737 Max) ซึ่งยังคงถูกระงับการขึ้นบินทั่วโลกมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ส่งผลให้บริษัท โบอิ้ง สูญเสียตำแหน่งผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบยอดการส่งมอบเครื่องบินใหม่กับบริษัท แอร์บัส คู่แข่งจากยุโรป ที่แข่งขันขับเคี่ยวกันมาเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปี

 

โบอิ้งเปิดเผยวานนี้ (14 ม.ค.) ว่า ในปีที่ผ่านมา บริษัทส่งมอบเครื่องบินใหม่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 380 ลำ ในขณะที่แอร์บัส ซึ่งเป็นคู่แข่ง มียอดส่งมอบเครื่องบินใหม่ 863 ลำ หรือมากกว่าเป็นเท่าตัว ชัยชนะของแอร์บัสที่เกิดจากการเพลี่ยงพล้ำของโบอิ้งครั้งนี้ เป็นชัยชนะครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2554  แต่ถ้าหากจะนับตั้งแต่ที่แอร์บัสผลิตเครื่องบินพาณิชย์ A300 รุ่นแรกออกมาในปี 2517 นี่ก็ถือเป็นชัยชนะครั้งที่ 10 ของแอร์บัส

โบอิ้งเสียแชมป์ผู้ผลิตเครื่องบินเบอร์1 ของโลก

สถานการณ์ของโบอิ้งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาระดับวิกฤติของเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ที่ถูกสั่งห้ามบินทั่วโลกเป็นเวลาเกือบจะครบปีแล้ว หลังเกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตก 2 ครั้งในเวลาห่างกันไม่ถึง 5 เดือนและเป็นเครื่องบินรุ่นนี้ทั้งสองเหตุการณ์ นำไปสู่การตรวจสอบทั้งภายในองค์กรเองและจากหน่วยงานของรัฐบาล ปลายปี 2562 โบอิ้งประกาศปลดนายเดนิส มุยเลนเบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ไม่สามาถพลิกสถานการณ์ฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับคืนมา พร้อมทั้งประกาศแผนระงับการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้เป็นการชั่วคราวแม้จะเป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งในระยะที่ผ่านมาก็ตาม

โบอิ้งเสียแชมป์ผู้ผลิตเครื่องบินเบอร์1 ของโลก

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา โบอิ้งส่งมอบเครื่องบิน 737 ซึ่งเป็นเครื่องบินลำตัวแคบมีทางเดินเดียว (single-aisle) เพียง 127 ลำ (ขณะที่คู่แข่งอย่างแอร์บัส ส่งมอบเครื่องบินรุ่นลำตัวแคบไปถึง 690 ลำ) อย่างไรก็ตาม โบอิ้งยังสามารถทำสถิติมากกว่าคู่แข่งในการส่งมอบเครื่องบินกลุ่มลำตัวกว้าง 2 ช่องทางเดิน (twin-aisle jets) โดยโบอิ้งส่งมอบไป 253 ลำ มากกว่าแอร์บัส 80 ลำ นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่าเครื่องบินลำใหญ่สำหรับเที่ยวบินระยะไกลอย่างรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์ (787 Dreamliner) คือรุ่นความหวังที่จะช่วยสนับสนุนผลประกอบการของโบอิ้ง โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 โบอิ้งส่งมอบเครื่องบินรุ่นนี้ไปแล้ว 45 ลำ นักวิเคราะห์ประมาณการณ์ว่ายอดขายเครื่องบินตระกูล 787 จะช่วยเพิ่มยอดรายได้ของโบอิ้งได้ถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 45,000 ล้านบาท

 

ราคาหุ้นของบริษัทปรับสูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 332.82 ดอลลาร์ต่อหุ้นในการซื้อขายวานนี้ โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลเชิงบวกอื่นๆ รวมทั้งยอดขายที่พุ่งสูงขึ้นของโบอิ้งในธุรกิจหมวดดาวเทียมและอากาศยานด้านการทหาร โดยในปีที่ผ่านมา โบอิ้งทำยอดขายอากาศยานด้านการทหารเพิ่มขึ้นเป็น 231 ลำ จากที่เคยขายได้ 98 ลำในปีก่อนหน้า