โอกาสข้าวไทยในเซเนกัล ปรับตัวไวให้ครองใจตลาดแอฟริกา

13 ม.ค. 2563 | 23:45 น.

 

ภูมิภาคแอฟริกาเป็นตลาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีอัตราการขยายตัวของเมืองในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีประชากรรวมเกือบ 400 ล้านคน เป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าข้าว และมีปริมาณความต้องการบริโภคข้าวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะกลายเป็นภูมิภาคสำคัญในการผลักดันการบริโภคข้าวในตลาดโลก ส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน ให้ความสนใจกับการบุกตลาดข้าวในแอฟริกาตะวันตก

 

ประชาชนในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก จำนวน 13 ประเทศ ได้แก่ เซเนกัล กินีกินี-บิสเซา มาลี แกมเบีย โกตดิวัวร์ เซียร์ราลีโอน โตโก ไลบีเรีย บูร์กินาฟาโซ กาบอง กาบูร์เวอร์เด และไนเจอร์ มีพฤติกรรม การบริโภคข้าวคล้ายๆ กัน คือ นิยมกลุ่มข้าวที่มีราคาตํ่า เช่น ปลายข้าวขาวและข้าวขาว 25% เนื่องจากยังเป็นประเทศที่ยังมีรายได้น้อย กำลังการซื้อยังอยู่ในระดับตํ่า

โอกาสข้าวไทยในเซเนกัล ปรับตัวไวให้ครองใจตลาดแอฟริกา

 

“เซเนกัล หรือ สาธารณรัฐเซเนกัล” เป็นประเทศที่ตั้งอยู่แอฟริกาตะวันตก ติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 196,190 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือ กรุงดาการ์ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก และเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับ 8 ของโลกถึงแม้ว่าทางรัฐบาลเซเนกัลจะมีนโยบายการเกษตรภายใต้โครงการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารในเรื่องการปลูกข้าว แต่ก็ยังไม่สามารถเพาะปลูกข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นจาก 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เป็น 91 กิโลกรัมต่อคนต่อปี นอกจากนี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวยังมีราคาสูง ขาดผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาลงทุนสร้างโรงสีข้าวจัดเก็บและกระจายข้าวสู่ตลาดอย่างเป็นระบบ

 

สำหรับประเทศไทย เซเนกัลเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 4 ในตลาดแอฟริกาตะวันตก และเป็นตลาดส่งออกข้าวไทยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากเป็นทั้งตลาดการบริโภคและเป็นทางผ่านของการนำเข้าข้าวสู่ประเทศใกล้เคียง อาทิ มาลี แกมเบีย กินี-บิสเซา และบูร์กินาฟาโซ เนื่องจากเซเนกัลมีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยในปี 2558 ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของเซเนกัลมากถึง 72.54% อย่างไรก็ตาม สถิติปี 2559 ซึ่งเป็นสถิติล่าสุดของสำนักงานสถิติของเซเนกัล ระบุว่าส่วนแบ่งการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้เปลี่ยนไป ปริมาณการนำเข้าข้าวจากไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัดที่ระดับ 16.20% โดยมีเหตุผลมาจากการแข่งขันด้านราคา ซึ่งข้าวจากประเทศไทยมีราคาสูงถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ในขณะที่ข้าวจากเวียดนามมีราคาเพียง 472 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และเซเนกัล หันไปนำเข้าข้าวหักจากอินเดียถึง 60.97%ลดปริมาณการนำเข้าข้าวหักจากไทยเหลือเพียง 21.22% เนื่องจากราคาข้าวหักจากไทยมีราคาที่สูงถึง 13.5 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับราคาข้าวหักจากอินเดียซึ่งขายในราคา 10.7 บาทต่อกิโลกรัม

 

จากการสอบถามบริษัทตัวแทนนำเข้าข้าวจากประเทศไทย พบว่าข้าวของไทยมีราคาสูงมาก หากข้าวไทยสามารถปรับลดลงได้ประมาณ 50 หรือ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หรือเหลือประมาณ 500-550 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ก็จะสามารถแข่งขันในตลาด
ได้ เนื่องจากข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีเมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆ นอกจากนี้ อินเดียและเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งไทยในการส่งออกข้าวไปยังเซเนกัลและแอฟริกาตะวันตกได้ปรับปรุงคุณภาพข้าวและมีราคาที่ถูกกว่าข้าวจากประเทศไทย ซึ่งเป็นราคาที่ผู้บริโภคในประเทศแอฟริกาตะวันตกรับได้ เหมาะสมกับกำลังการซื้อของประเทศแอฟริกาตะวันตก

 

การวางยุทธศาสตร์ของไทยในการส่งออกข้าวมายังประเทศแอฟริกาตะวันตกนั้น ควรต้องคำนึงว่าประเทศแอฟริกาตะวันตกส่วนใหญ่มีกำลังซื้อที่ค่อนข้างจำกัด จึงให้ความสำคัญกับราคาข้าวมากกว่าคุณภาพของข้าว ดังนั้น การส่งออกข้าวมาในประเทศเหล่านี้ อาจต้องปรับคุณภาพและราคาให้เหมาะสม เพื่อให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่ครองตลาดในเวลานี้ นอกจากนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก อาจพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนา โดยให้การแนะนำประเทศดังกล่าว ให้สามารถปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นความช่วยเหลือ ที่ยังคงความนิยมประเทศไทยและสินค้าไทยไว้ได้อีกด้วย

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 15 - 18 ธันวาคม พ.ศ. 2562

โอกาสข้าวไทยในเซเนกัล ปรับตัวไวให้ครองใจตลาดแอฟริกา