นายกฯญี่ปุ่นชงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้าน

05 ธ.ค. 2562 | 05:34 น.

 

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 13 ล้านล้านเยน (ราว 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท) เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกและพยายามรักษาพลวัตรการลงทุน-การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องทั้งช่วงก่อนและหลังการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ

ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

แผนการจัดสรรงบประมาณเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้จะมุ่งเน้นไปที่ 3 เสาหลัก คือ หนึ่ง การป้องกันภัยและบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดที่ได้รับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สอง การให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ภาคเอกชนในการรับมือกับบรรดาปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก และ สาม การรักษาพลวัตรการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปแม้หลังการแข่งขันโอลิมปิค 2020 หรือ โตเกียว โอลิมปิค
 

 

สื่อต่างประเทศอ้างอิงแหล่งข่าวในรัฐบาลญี่ปุ่นที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า ถ้าหากรวมเงินกู้ภาครัฐ เครดิตการันตี และการใช้จ่ายของภาคเอกชนเข้าร่วมไปด้วย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ก็จะมีมูลค่าสูงถึง 25 ล้านล้านเยน หรือราว 230,000 ล้านดอลลาร์ แม้จะดูเป็นงบที่สูงมาก แต่การเบิกจ่ายใช้จริงอาจน้อยกว่าตัวเลขที่ประกาศออกไป และในระยะสั้นอาจจะยังไม่เห็นผลลัพธ์ของการกระตุ้นมากนัก 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายนที่ผ่านมา แทบจะไม่มีการเติบโตเลย เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบภาคการส่งออก อีกทั้งธุรกิจค้าปลีกในประเทศก็ยังทำยอดลดลงในอัตรามากที่สุดในรอบกว่า 4 ปีเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นผลพวงมาจากการปรับขึ้นภาษีการขาย (sales tax) ที่ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย

นายกฯญี่ปุ่นชงงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.6 ล้านล้าน
 

สตีฟ โคเครน นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัย มูดี้ส์ อะนาไลติคส์ ให้ความเห็นว่า การนำนโยบายทางการคลังมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องควรทำอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่โอกาสจะใช้เครื่องมือทางการเงินหรือการใช้นโยบายดอกเบี้ยมีข้อจำกัดมากอยู่แล้ว “การใช้งบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษา หรือฝึกอบรมคนหนุ่มสาว และพัฒนาทักษะคนสูงวัยให้สามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้ยาวนานมากขึ้น เหล่านี้เป็นกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะให้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว”

 

ข่าวระบุว่า ในงบ 13 ล้านล้านเยนนั้น มากกว่า 3 ล้านล้านเยนจะมาจากงบลงทุนของภาครัฐร่วมกับโครงการเงินกู้ที่มีต้นทุนดอกเบี้ยถูกมาก เนื่องจากธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมีนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตราติดลบ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่ามาตรการของรัฐบาลญี่ปุ่นดูจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยลบ มากกว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ ยังถือว่าเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับงบกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2559 ที่สูงถึง 28 ล้านล้านเยน โดยครั้งนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะภาคการส่งออก จากความไม่แน่นอนในยุโรปเมื่ออังกฤษลงประชามติเตรียมแยกตัวออกจากอียู (เบร็กซิท)